สวทช. หนุนยกระดับมาตรฐาน ThaiGAP แบบ 2in1
ไอที
นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยมีการผลักดันและมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการด้านผักและผลไม้ไทยได้นำมาตรฐาน ThaiGAP ไปใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เสริมสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้าเกษตรและอาหารให้แก่คู่ค้าและผู้บริโภค โดยมีผลิตผลทางการเกษตรผักและผลไม้ที่เข้าร่วมโครงการกว่า 70 ชนิด เช่น มะพร้าวน้ำหอม กล้วย เมล่อน อินทผลัม พริก และผักต่างๆ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 130 ราย บนพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ ยอดขายหลังการได้รับการรับรองเพิ่มมากขึ้น รวมมีมูลค่ามากกว่าพันล้านบาท
"สภาหอการค้าฯ มุ่งมั่นที่จะพัฒนามาตรฐาน ThaiGAP เทียบเคียงกับมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการส่งออก และสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางเกษตรให้เข้าไปขายในห้างค้าปลีก ได้แก่ แม็คโคร โลตัส ท็อปส์ และบิ๊กซี รวมทั้งพัฒนา 2in1 GAP Platform Service ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ในการบันทึกข้อมูลเพื่อใช้ในการตรวจรับรอง ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังร่วมกับสมาคมกาแฟไทยสร้างมาตรฐานระบบผลิตกาแฟคุณภาพของภาคเอกชน “ThaiGAP Green Coffee Standard” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมกาแฟไทยอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสำคัญให้ผู้ปลูกและผู้เกี่ยวข้องทำการเกษตรควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการทำธุรกิจที่เป็นธรรม"
น.ส.ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. กล่าวว่า โปรแกรม ITAP สวทช. มีภารกิจที่เน้นส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้มีความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงขีดความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยในปี 2562 มุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการในกลุ่มอาหาร ผัก และผลไม้ เพื่อให้เกิดผลผลิตที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน ซึ่งจากการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มอาหาร ผักและผลไม้ ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงยังขาดความรู้เพื่อจะสร้างผลผลิตที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน ด้วยเหตุนี้ ในปี 2561-2562 โปรแกรม ITAP จึงได้เพิ่มเครื่องมือช่วยผู้ประกอบการขึ้นมา 2 อย่าง คือมาตรฐาน ThaiGAP 2in1 และ แอพพลิเคชัน 2in1 GAP Platform Service
โดยมาตรฐาน ThaiGAP 2in1 เป็นการบูรณาการ 2 มาตรฐาน ได้แก่ ThaiGAP โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ Q GAP ของกรมวิชาการเกษตร เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการขอการรับรอง 2 มาตรฐานในคราวเดียวกัน พร้อมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เป็นต้นแบบของมาตรฐาน ThaiGAP 2in1 คือ บริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด โดยมีแปลงปลูกที่สิงห์ปาร์ค จ.เชียงราย เช่น โรสแมรี่ เปปเปอร์มินท์ เลมอนไทม์ เห็ดหอม ชา บลูเบอรี่ พุทรา เมล่อน เป็นต้น
ขณะที่แอพพลิเคชัน 2in1 GAP Platform Service อยู่ระหว่างการพัฒนา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยผู้ประกอบการอันจะเป็นการยกระดับวิธีการทำงานและการดำเนินงานภายใต้ข้อกำหนดของมาตรฐานสินค้าเกษตรปลอดภัย เนื่องจาก Platform นี้จะช่วยผู้ประกอบการให้สามารถบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดเก็บข้อมูล การตรวจประเมิน การรายงานผล ซึ่งจะอยู่ในรูปแบบที่เป็นระบบดิจิทัล เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลและควบคุมและติดตามทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าการเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดย Platform นี้คาดว่าจะแล้วเสร็จ ในเดือนมิถุนายน 2562
ด้าน ผศ.ดร.ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า การพัฒนาระบบให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตทางการเกษตร ทางโครงการฯ ได้มีการส่งเสริมศักยภาพการผลิตของเกษตรกรผู้ผลิต เพื่อส่งเสริมคุณภาพผลผลิตไปสู่ผู้บริโภค โดยเพิ่มระบบการให้คำปรึกษามาตรฐานการผลิต 2 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐาน ThaiGAP และมาตรฐาน Q GAP พร้อมกัน โดยมีการนำร่องดำเนินการที่สิงห์ปาร์ค จังหวัดเชียงราย ซึ่งได้เพิ่มเติมในด้านระบบการผลิต การพิจารณาสารเคมีเพื่อความปลอดภัย และการพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคการผลิต ทั้งนี้ การให้คำปรึกษาระบบการผลิตของทางโครงการฯ ไม่ได้จำกัดอยู่ที่มาตรฐานของประเทศไทย แต่ยังรวมไปถึงมาตรฐานสากล Global Gap ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการในการจัดส่งสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ
สำหรับแอพพลิเคชัน ที่ผู้เชี่ยวชาญในโครงการฯ ร่วมพัฒนากับภาคเอกชน นายสัณห์ อุทยารัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สเต็ม เอ็ดดูเคชั่น แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาแอพ 2in1 GAP Platform Service เริ่มจากความต้องการช่วยเหลือเกษตรกร โดยริเริ่มจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการนำรูปแบบการตรวจสอบมาตรฐาน มาพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบของดิจิทัล และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาลดการใช้กระดาษ และเพิ่มพูนองค์ความรู้ผ่านแอพพลิเคชันให้แก่เกษตรกร ผนวกกับความต้องการสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย รวมถึงรับทราบว่ายังขาดมาตรฐานส่วนใด เพื่อที่จะพัฒนาให้ได้รับมาตรฐาน GAP ทั้ง ThaiGAP และ Q GAP โดยดำเนินการผ่านระบบ Web Application ผสมกับ Mobile Application เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งแอพนี้จะสามารถลดต้นทุนในการให้คำปรึกษาของเกษตรกรในการตรวจรับรอง เป็นการนำใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม
และในอนาคตสามารถที่จะวิเคราะห์ข้อมูลในการให้องค์ความรู้เพิ่มเติมในหัวข้อที่เกษตรกรมีข้อสงสัยหรือบริหารจัดการไม่ถูกวิธี โดยจะเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งาน 2 กลุ่มหลัก คือ 1) กลุ่มสหกรณ์หรือเกษตรกร เพื่อที่จะสามารถจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานภายในแปลง และทราบว่ายังต้องพัฒนางานในส่วนใดบ้างเพื่อที่จะได้รับมาตรฐาน GAP ซึ่งสามารถที่จะทดลองตรวจรับรองเพื่อสร้างความมั่นใจ และเก็บข้อมูลบน Cloud และ 2) ที่ปรึกษาหรือผู้ตรวจสอบภายใน ลดเวลาในการเข้าแปลงเกษตร และสามารถทำงานผ่านระบบ Web Application ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว