ข่าวล็อกซเล่ย์ขนเทคโนโลยีหนุนเกษตรอัจฉริยะ  - kachon.com

ล็อกซเล่ย์ขนเทคโนโลยีหนุนเกษตรอัจฉริยะ 
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (5 มิถุนายน 2562)  บมจ.ล็อกซเล่ย์ นำเทคโนโลยี ไอโอที เซ็นเซอร์ (IoT Sensors) และแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเกษตร  ร่วมนำเสนอและถ่ายทอดให้กับเกษตรกรใน “งานรณรงค์การใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตข้าวในนาแปลงใหญ่ปี 2562” ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดขึ้นที่นาแปลงใหญ่  บ้านสวนแตง จ.สุพรรณบุรี 

นายกาญจน์ ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี IoT Sensors ซึ่งมีความพร้อมทางด้านอุปกรณ์และแพลทฟอร์มที่ล้ำสมัย  บริษัทมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากกระทรวงเกษตรฯ ให้ร่วมเป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่มีศักยภาพ เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรของไทย ให้เกษตรกรได้รับองค์ความรู้นำไปบูรณาการต่อยอดดำเนินการสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวสู่การเป็น “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” ทำให้อาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่มีความมั่นคง ยั่งยืน สร้างรายได้ที่ดี สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาล รวมทั้งนโยบายการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย


สำหรับเทคโนโลยีไอโอที เซ็นเซอร์ ( IoT Sensors ) ของล็อกซเล่ย์ ที่นำมาร่วมโครงการนำร่องเกษตรอัจฉริยะกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกร   เป็นชุดอุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่างๆ ติดตั้งในนาข้าวแปลงต้นแบบกว่า 20 ไร่ เพื่อใช้สำรวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอุณหภูมิ แสงแดด แรงลม ปริมาณน้ำฝน ความชื้นในอากาศ ตัวอย่างแมลงศัตรูพืช การเจริญเติบโตของพันธุ์พืชนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลแสดงผลผ่านแดชบอร์ด (Dashboard) เพื่อประเมินสุขภาพข้าว พร้อมแจ้งเตือนเกษตรกรให้บริหารจัดการแปลงนาข้าวได้อย่างทันท่วงที เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวให้มีคุณภาพและมีผลผลิตที่มากขึ้น โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวยังสามารถผนวกใช้ข้อมูลที่ได้จากเทคโนโลยี UAV (อากาศยานไร้คนขับ) เพื่อสำรวจติดตามบันทึกการเจริญเติบโต การเกิดโรคและแมลงศัตรูพืช เพื่อประหยัดต้นทุนและแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานผู้ดูแลพื้นที่เกษตรได้อย่างยั่งยืน

โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้นำ เทคโนโลยีการเกษตรแม่นยำและไอโอที เซ็นเซอร์ มาใช้บนพื้นที่จริงภายใน เคซี ฟาร์ม จังหวัดเชียงใหม่ของ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) จำนวนกว่า 25 ไร่ ในการเก็บข้อมูลภาคเกษตรมาวิเคราะห์และแสดงผลผ่านแดชบอร์ด เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มทางด้านเกษตรดิจิตอล ภายใต้ระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่เกี่ยวข้องกับระบบการปลูกข้าวโพดหวานแบบอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทซันสวีทฯ โดยผลที่ได้รับเป็นที่น่าพอใจและยังใช้งานจริงอยู่ในปัจจุบัน.