วช. หนุนนักวิจัยไทย คว้ารางวัลในเวทีนานาชาติ
ไอที
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการวช. กล่าวว่า จากภารกิจของ วช. ในการส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยในการนำผลงานที่มีคุณภาพและมีศักยภาพด้านการวิจัยและด้านการประดิษฐ์คิดค้น เข้าร่วมแสดงนิทรรศการและประกวดผลงานในเวทีระดับนานาชาติ นั้น ทำให้ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมของคนไทยที่ไปเผยแพร่ เป็นที่รู้จักสามารถนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดผลงาน และเปิดโอกาสให้มีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้นักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อันจะนำไปสู่ผลงานที่ได้มาตรฐานเกิดการยอมรับในทางการตลาดและก้าวสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่ความเป็น “ประเทศ 4.0” ที่มีความสามารถทางการแข่งขันได้ต่อไป
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ วช. ได้นำนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยคว้ารางวัลเกียรติยศจาก 2 เวที โดย เวทีแรกคือ “The 47th International Exhibition of Inventions Geneva” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 – 14 เมษายน 2562 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เป็นเวทีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิสเซอร์แลนด์ อาทิ The Swiss Federal Government of the State และ The City of Geneva และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลกหรือ WIPO (The World Intellectual Property Organization) โดย วช. ได้นำผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วมประกวดจำนวน 102 ผลงาน จาก 29 หน่วยงาน ซึ่งภายในงานมีหน่วยงานจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมกว่า 40 ประเทศ มีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงกว่า 1,000 ผลงาน
และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่ผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศ จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ ผลงานเรื่อง “เซลล์เชื้อเพลิงสังกะสี – อากาศสมรรถนะสูง” ของ รองศาสตราจารย์ ดร.สุรเทพ เขียวหอม และคณะ แห่งคณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานเรื่อง “การเคลือบผิวดูดซับความร้อนด้วยอนุภาคนาโนกราฟีน – ซิลิกา สำหรับแผงพลังงานรวมแสงอาทิตย์แบบราง” ของ นายพิศิษฐ์ คำหน่อแก้ว และคณะ แห่งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ(นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และผลงานเรื่อง “PEA Solar Hero Application” ของ นายต้องพงษ์ ศรีบุญ และคณะ แห่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
นอกจากนี้ คณะนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทย ยังได้รับรางวัลเหรียญทอง จำนวน 13 ผลงาน รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 36 ผลงาน รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 45 ผลงาน และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากประเทศต่าง ๆ อีกจำนวน 32 รางวัล
สำหรับเวทีที่สองคือ “The 30th International Invention, Innovation & Technology Exhibition” (ITEX 2019) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 4 พฤษภาคม 2562 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นเวทีที่ได้รับการสนับสนุนจาก MINDS (Malaysian Invention & Design Society) มีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงกว่า 900 ผลงาน จากประเทศต่าง ๆ จำนวน 21 ประเทศ โดย วช. ได้นำผลงานของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยเข้าร่วม 79 ผลงาน จาก 24 หน่วยงาน และได้รับรางวัลเหรียญทอง จำนวน 21 รางวัล รางวัลเหรียญเงิน จำนวน 49 รางวัล รางวัลเหรียญทองแดง จำนวน 9 รางวัล และรางวัลพิเศษ (Special Prize) จากประเทศต่าง ๆ อีกจำนวน 20 รางวัล
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าวว่าจากการนำนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยไปร่วมประกวดครั้งนี้พบแนวโน้มที่สำคัญในสามเรื่อง คือผลงานที่นำไปประกวด เริ่มเป็นผลงานจากหน่วยงานที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในองค์กรของตัวเอง และผลงานที่ได้รับความสนใจจะเป็นผลงานที่มีการใช้งานจริงได้แล้ว นอกจากนี้ยังมีผลงานที่เป็นงานวิจัยระดับแนวหน้า เช่นเรื่องเซลล์เชื้อเพลิง อีกด้วย