ข่าว"Boost with Facebook" หนุนธุรกิจโตด้วยออนไลน์ - kachon.com

"Boost with Facebook" หนุนธุรกิจโตด้วยออนไลน์
ไอที

photodune-2043745-college-student-s

ทางเฟซบุ๊ก ประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับ มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย และพันธมิตรภาครัฐ ประกอบด้วย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เปิดตัวโปรแกรม “Boost with Facebook” สร้างธุรกิจให้เติบโตกับเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นโปรแกรมอบรม ทักษะทางดิจิทัลนี้ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งในระดับเจ้าของธุรกิจเองและผู้จัดการ เรียนรู้การใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อเชื่อมต่อกับลูกค้า และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจในช่องทางออนไลน์

เบธ แอน ลิม หัวหน้าฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ของเฟซบุ๊ก ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กล่าวว่า โปรแกรม“Boost with Facebook” เป็นโปรแกรมระดับโลกของเฟซบุ๊กที่ได้เปิดตัวแล้วในหลายๆประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยได้เลือกกลุ่มเป้าหมายที่เข้าอบรมเป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เช่น กลุ่มผู้พิการ กลุ่มเพศทางเลือก กลุ่มผู้หญิงที่มีความเสี่ยงในการถูกคุกคามทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ฯลฯ โดยร่วมกับ พันธมิตรภาคชุมชน ในการแนะนำและคัดเลือกผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 1,000 ราย ซึ่งจะมีธุรกิจอยู่แล้วหรือไม่มีก็ได้ เป็นการอบรมและใช้เครื่องมือทางออนไลน์ ของเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ซึ่งได้มีการจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นภาษาไทย ครอบคลุมหัวข้อสำคัญต่างๆ ได้แก่ การสร้างเพจธุรกิจบน เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม การใช้เครื่องมือสร้างคอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ การทำวีดีโอ และการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายโดยการใช้ข้อมูลเชิงลึก ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กอย่างต่อเนื่อง 54 ล้านคนต่อเดือน และมีผู้ใช้เฟซบุ๊กทุกวันอยู่ที่ 38 ล้านคน การอบรมให้ใช้งานเครื่องมือดิจิทัล และฟีเจอร์ต่างๆ ในการช่วยหาลูกค้าใหม่ๆ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาลได้

เบธ แอน ลิม กล่าวต่อว่า สำหรับโปรแกรมนี้จะมี 3 ส่วน คือ 1.อบรม โดยมีผู้เชี่ยวชาญอบรมให้แบบตัวต่อตัว ยกกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการหาลูกค้าใหม่ๆ การบริหาร และเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล 2.การใช้ทรัพยากร และเครื่องมือออนไลน์ต่างๆ และ 3. การสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งการนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับเจ้าของธุรกิจ และผู้ประกอบการด้วย


ทั้งนี้จากข้อมูลจากรายงาน Future of Business ระบุว่า ภาคธุรกิจและภาคชุมชนของไทยนั้นมีการเปิดรับสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างกว้างขวาง โดยร้อยละ 78 กล่าวว่าพวกเขาใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น เฟสบุ๊ก ในการแสดงสินค้าและบริการให้แก่ลูกค้า ผลการศึกษายังระบุอีกว่าร้อยละ 94 ของธุรกิจขนาดเล็กที่เข้าร่วมการสำรวจในครั้งนี้ตระหนักดีว่าการโปรโมทสินค้าและบริการผ่านช่องทางดิจิทัล รวมถึงช่องทางโซเชียลต่างๆ มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจ



อย่างไรก็ตามในปี 61 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจดิจิทัลคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 19 ของจีดีพีของประเทศไทย และคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้ถึง 2.82 แสนล้านบาท ภายในปี 64 ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางกว่า 3 ล้านรายในไทยที่คาดว่าจะสร้างรายได้คิดเป็นร้อยละ 43 ของจีดีพีรวมของประเทศ ภายในปี 62

ด้านนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการและรองประธานกรรมการมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า ถือว่าเป็นความท้าท้ายอีกโครงการหนึ่งของมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ที่ได้ทำงานมากว่า 25 ปี กับโครงการต่างๆ มากกว่า 1,000 โครงการ โดยโครงการนี้จะเริ่มอบรมตั้งแต่เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 62 จำนวน 12 ครั้ง ใน 4 ภาค ทั่วประเทศไทย เพื่อผลักดันให้มีการนำเครื่องมือดิจิทัลไปใช้ให้เกิดประโยชน์โดยเร็วที่สุด พร้อมมีการติดตามและวัดผล เพื่อให้ชุมชนต่างๆ ที่เข้าร่วมมีความเข้มแข้งและมั่นคงในยุคไทยแลนด์ 4.0


น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับเอสเอ็มอีของไทย ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งภาคธุรกิจเอสเอ็มอี ถือว่าสำคัญเพราะคิดเป็น 80% ของธุรกิจไทย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำโครงการเน็ตประชารัฐ ซึ่งช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้ยกระดับวิสาหกิจของชุมชนให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งในอนาคตหากมีการขยายโครงการเพิ่มขึ้น ทางกระทรวงดีอีก็พร้อมที่จะสนับสนุนต่อเนื่อง

“การที่จะให้ธุรกิจชุมชนประสบความสำเร็จต้องมีการสร้างระบบนิเวศน์หรืออีโค่ซิสเต็มส์ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำโครงสร้างพื้นฐานไปแล้ว มีแพลตฟอร์มต่างๆให้ใช้ มีองค์ความรู้ และเงินทุนก็มีจากสถาบันการเงิน ซึ่งความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน จะช่วยให้สตาร์อัพ และเอสเอ็มอี สามารถเติบโตต่อไปได้


นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเนื่องจากปัจจุบันเอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็มีการใช้เฟซบุ๊กในการทำธุรกิจอยู่แล้ว แต่การหยิบยื่นโอกาสในการอบรมให้กับกลุ่มคนและชุมชนที่ด้อยโอกาส ให้เข้าถึงเครื่องมือออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้พวกเขาสามารถเติบโตในทุกมิติอย่างมั่นคงยั่งยืนต่อไป.


จิราวัฒน์ จารุพันธ์
[email protected]