ข่าวเอกชนจวกยับราคาคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ แพงเกินไป  - kachon.com

เอกชนจวกยับราคาคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ แพงเกินไป 
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (22 พ.ค.) ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 เมกะเฮิร์ตช โดยมีสรุปสาระสำคัญของร่างประกาศแบ่งเป็น 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิร์ตซ ระยะเวลาอนุญาต 15 ปี วิธีการจัดสรร ผู้ขอรับใบอนุญาตเลือกชุดคลื่นความถี่ที่ต้องการ กรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตมีความต้องการตรงกันใช้วิธีจับสลาก ราคาของชุดคลื่นความถี่ชุดละ 17,584 ล้านบาท วงเงินประกัน 880 ล้านบาท 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และยกร่างฯ ให้มีความสมบูรณ์ที่สุด โดยให้ทุกภาคส่วนตรวจสอบตัวร่างประกาศอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ กสทช.ขอรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงร่างฯ ให้สมบูรณ์ โดยสิ่งใดที่สามารถนำไปแก้ไขได้จะนำไปดำเนินการ สิ่งไหนที่ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติคงต้องปรับปรุงแก้ไขให้ไม่ได้ สำหรับประเด็นที่ค่ายมือถือทั้ง 3 รายมองว่าราคาคลื่นนั้นสูงเกินไปนั้น คณะทำงานจะนำกลับไปพิจารณาเพื่อหาทางออกอีกครั้งก่อนสรุปให้ทันวันที่ 30 พ.ค.2562 ต่อไป

นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคเป็นโอเปอเรเตอร์รายหนึ่งที่ยื่นขอให้รัฐบาลช่วยขยายระยะเวลาในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ แต่ไม่ได้บอกว่าจะเข้าซื้อคลื่นอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เมื่ออุตสาหกรรมมีปัญหาเป็นเรื่องดีที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่ควรมีเงือนไขให้เข้าร่วมการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ 

ทั้งนี้ เมื่อดูจากคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้ระบุว่ากสทช ต้องมัดมือชกบังคับโอเปอเรเตอร์ให้ต้องซื้อคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ โดยเมื่อดูราคาเฉลี่ยในการจัดสรรคลื่นในทวีปยุโรปราคาอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท ในเอเชียอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ราคาของประเทศไทยอยู่ที่ 17,584 ล้านบาท ดังนั้น ดีแทคจึงขอให้กสทช.ทบทวนราคาและระยะเวลาจัดสรรให้เหมาะสมกว่านี้ 

ส่วนตัวแทนของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และ กลุ่มบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็ยืนยันว่าราคาคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ ยังมีราคาที่สูงจนเกินไปหากเทียบกับจำนวนเมกะเฮิร์ตซที่จะได้