ข่าวนักพัฒนาย้ำมือถือหัวเว่ยยังใช้แอนดรอยด์ได้เพราะเป็นโอเพ่นซอร์ส - kachon.com

นักพัฒนาย้ำมือถือหัวเว่ยยังใช้แอนดรอยด์ได้เพราะเป็นโอเพ่นซอร์ส
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้(20 พ.ค.62) จากกรณีกูเกิลระงับการให้บริการกับหัวเว่ยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานทั้งด้านฮาร์ดแวณ์ ซอฟต์แวร์และบริการธุรกิจ ยกเว้นในส่วนของโอเพ่นซอร์ส ซึ่งมีผลทันทีตามคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งมีประเด็นพิพาทกันในขณะนี้  

 รศ.ดร.ชุติสันต์   เกิดวิบูลย์เวช  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน เป็นปัญหาของยักษ์ใหญ่ ในภาพรวม ก็คือเป็นเรื่องข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า เพราะสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย  ในกรณีนี้ของหัวเว่ย สหรัฐอเมริกาก็มองว่า หากเข้าไปในประเทศต่างๆ ก็จะเก็บข้อมูลขนาดใหญ่จากผู้ใช้งานได้มากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยถูกใจสหรัฐอเมริกา เป็นการต่อสู้ระหว่างประเทศ ไม่ใช่ในเชิงบริษัท ใดบริษัทหนึ่ง เมื่อต้องการข้อมูล จึงต้องต่อสู้กัน ว่าใครจะได้ส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด กูเกิลออกมาแบนไม่ให้ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ก็เป็นในแง่ของภาพรวม

“ต้องทำให้เกิดผลกระทบ ต้องการให้กระทบผู้ใช้ เพื่อลดบทบาทของบริษัทมือถือ มีผลต่อดาต้า ยอดขายการเติบโต เพราะข้อมูลหรือดาต้าเอาไปเทรนด์เอไอ หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้ จะเห็นว่า เอไอเก่งๆ มาจากการมีข้อมูลขนาดใหญ่มาก แต่การที่จะมีดาต้าปริมาณมหาศาล ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องคำนึงถึงความเป็นส่วนตัว สิทธิมนุษยชน เมื่อมีปริมาณข้อมูลขนาดใหญ่ จะทำให้การทำนายต่างๆ ถูกต้องแม่นยำ “ รศ.ดร.ชุติสันต์ กล่าว

 รศ.ดร.ชุติสันต์  กล่าวว่า   ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกา และจีน เป็นเรื่องระดับโลก เราเห็นการต่อสู้มานานแล้ว ในฐานะที่อ่านงานวิจัย เป็นประจำ จะเห็นภาพชัดเจนว่า เดิมนั้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เก่งๆ อยู่ทางฝั่งอเมริกาเยอะมาก แต่ในช่วงหลังงานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ที่ออกมาใช้งานจริง มาอยู่ทางฝั่งจีน มีนักวิจัยเก่งๆ ในสาขามากมาย เน้นวิจัยแล้วใช้งานได้ทันที ในระยะยาวเชื่อว่า เทคโนโลยีเอไอของฝั่งจีนจะมีความแม่นยำมากกว่า
ด้านนายสิทธิพล พรรณวิไล นักพัฒนาและบล็อกเกอร์ไอที กล่าวว่า จากข่าวกูเกิล แบนหัวเว่ย จากกรณีข้อพิพาทระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกานั้น Huawei vs USA ยังมีคนเข้าใจผิดเรื่อง Android, AOSP และ Google Services เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ขออธิบายว่า กูเกิล ไม่สามารถแบนการใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ เพราะแอนดรอยด์( Android) เป็นโปรเจ็คท์ "Open Source" ในโครงการ Android Open Source Project (AOSP) ที่ใครจะเอาไปใช้ก็ได้ กูเกิลไม่มีสิทธิ์ในโปรเจ็คท์นี้

นายสิทธิพล กล่าวว่า กูเกิลตระหนักตรงนี้มาตลอด จึงต้องพัฒนาต่อยอดจากแอนดรอยด์ขึ้นมาเพื่อไม่ให้ตัวเวอร์ชัน Open Source เก่งเกินไปจนคนไม่สนใจกูเกิล และอาจเสียประโยชน์ที่จะได้จากโปรเจคแอนดรอยด์   กูเกิลก็เลยทำบริการเพิ่มขึ้นมาชื่อ Google Mobile Services เพื่อต่อเติมฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้แอนดรอยด์ทำอะไรได้มากขึ้น เช่น Google Play Store , YouTube, Maps ฯลฯ ซึ่งส่วนนี้ไม่ได้อยู่ใน AOSP เมื่อผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ จะใช้บริการเหล่านี้ก็ต้องจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์การใช้งาน ( License ) ให้กูเกิล เรียกว่า Certified by Google ซึ่งกูเกิลมีสิทธิ์จะไม่ให้ใช้ก็ได้ ที่ผ่านมาโทรศัพท์มือถือที่ได้มาตรฐานก็ซื้อลิขสิทธิ์การใช้งานไม่ได้เช่นกัน

 “หัวเว่ย จะเป็นเคสแรกที่มือถือดีแต่ขอ License แล้วจะโดนปฏิเสธ ผลที่เกิดขึ้นคือ หัวเว่ย จะยังใช้แอนดรอยด์ได้อยู่ แต่บริการต่าง ๆ ที่อยู่ในส่วนที่กูเกิลทำเพิ่มขึ้นมานั้นจะไม่มี ส่วน โปรเจ็คท์ AOSP ก็เป็นแอนดรอยด์ที่เราใช้ ๆ กันอยู่ แต่ไม่มีบริการของกูเกิลมาด้วย แต่ปัญหาก็อยู่ตรงนี้ พอไม่มีบริการของกูเกิลติดมากับเครื่อง คนทั่วโลกก็คงไม่มีใครคิดจะซื้อ”

นักพัฒนา แอพพลิเคชั่นคนดัง กล่าวว่า มั่นใจว่าหัวเว่ย มีแผนอยู่แล้วว่า ถ้าโดนแบบนี้จะทำอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา หัวเว่ยก็พัฒนาระบบปฏิบัติการของตัวเอง ในความเห็นส่วนตัวมั่นใจว่า เป็น AOSP แล้วต่อยอดอีโคซิสเต็มท์