ข่าวดีแทค วอนกสทช.ออกโรดแมปคลื่น 700  ก่อนจัดสรร - kachon.com

ดีแทค วอนกสทช.ออกโรดแมปคลื่น 700  ก่อนจัดสรร
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
 วันนี้ (13 พ.ค.) ที่โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า นวัตกรรมและการลงทุนของผู้ให้บริการมือถือได้สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญต่อประเทศไทย ดีแทคจะยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มต่างๆ ในสังคมให้เข้าถึงบริการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเข้ามาของยุค 5จี ในอนาคต ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอนาคตอันใกล้

สำหรับกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกร่างหลักเกณฑ์เงื่อนไขและการอนุญาตคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ตซ โดยจะมีราคาการจัดสรร ระยะเวลาการชำระเงิน และรายละเอียดเกี่ยวกับการขยายโครงข่ายนั้น 

ทั้งนี้ ดีแทคมองว่าราคาเป็นปัจจัยสำคัญที่ดีแทคต้องพิจารณา ซึ่งจากข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ ราคาต่อใบอนุญาตจะขึ้นไปอยู่ที่ 25,000-27,000 ล้านบาท ดีแทคยังขอไม่ระบุว่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทเข้ารับการจัดสรรหรือไม่ เพราะสิ่งที่ดีแทคให้ความสำคัญมากที่สุดคือการทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ (สเปคตรัม โรดแมป) ซึ่งหากยังไม่มี กสทช.ก็ไม่ควรเปิดจัดสรรความถี่เพราะทำให้เอกชนมีการวางแผนการลงทุนที่ลำบาก และอีกประการคือ คลื่นจะได้ใช้งานปลายปี 2563 ดังนั้น จึงไม่เห็นเหตุผลที่จะเร่งรัดในขณะนี้

นายเจมส์ แอลลัน ผู้อำนวยการบริษัทวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ฟรอนเทียร์อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า จากผลการศึกษาซึ่งครอบคลุม 5 ประเทศที่เทเลนอร์กรุ๊ปดำเนินกิจการอยู่ในเอเชีย ได้แก่ บังคลาเทศ ปากีสถาน เมียนมาร์ มาเลเชีย และไทย พบว่าบริการด้านโทรคมนาคมถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางธุรกิจ สร้างสรรค์นวัตกรรม สร้างตลาดใหม่ ซึ่งผลักดันให้เศรษฐกิจมวลรวมของเอเชียเติบโตถึงปีละ 6-12% โดยสะท้อนถึงผลจากการลงทุนของเทเลนอร์กรุ๊ปในภูมิภาคเอเชีย และบริการด้านโทรคมนาคมยังช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมเอเชียขยายตัวถึง 75% นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่า ภาคการเงิน ธุรกิจค้าปลีก การศึกษา สาธารณสุขและการขนส่ง เป็นธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอย่างเข้มข้นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการช่วยหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตกว่าอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ มูลค่าเศรษฐกิจไทยที่เกี่ยวเนื่องจากบริการสื่อสารได้เติบโตจาก 4 แสนล้านเหรียญเป็น 7 แสนล้านเหรียญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหรือระหว่างปี 2548-2558 และในตลาดไทยภาคการเงินมีการใช้เทคโนโลยีสื่อสารเป็นพื้นฐานในการให้บริการผลิตภัณฑ์ และบริการอื่นๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชำระผ่านช่องทางดิจิทัลหรือ ดิจิทัล เพยเม้นต์ หรือบริการพร้อมเพย์ที่เติบโตเกือบ 100% จาก 33% ในปี 2557 เป็น 62% ในปี 2560 ขณะที่อัตราการเติบโตของผู้ใช้กระเป๋าเงินดิจิทัลโตขึ้นจาก 1% เป็น 8% ในเวลาเดียวกัน

ขณะที่ภาคการเกษตร ก็เริ่มมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเสริมประสิทธิภาพในการเพาะปลูก เนื่องจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพทางการเกษตรที่ดี สะท้อนได้จากจีดีพีภาคการเกษตรที่เหลือเพียง 10% จากอดีตที่มีสัดส่วนสูงถึง 32% ซึ่งดีแทค หนึ่งในผู้ให้บริการสื่อสารรายใหญ่ของไทยได้ริเริ่มโครงการ “ดีแทคสมาร์ทฟาร์มเมอร์” เพื่อให้บริการข้อมูลทางการเกษตรแก่เกษตรกร ซึ่งมุ่งหวังในการเพิ่มประสิทธิภาพในการกษตรผ่านการบริการทางด้านข้อมูล