สวทช.ร่วมจัดประชุมวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ IBD2019
ไอที



ทั้งนี้ด้วยความสนพระทัยและทรงห่วงใยเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และประเทศไทยยังขาดศูนย์กลางการประสานงานของหน่วยงานต่างๆ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จึงได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการเครือข่ายวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ขึ้นในปี 2559 โดยมี สวทช. เป็นฝ่ายเลขานุการฯ คณะกรรมการประกอบด้วยคณะนักวิจัย นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อสานต่อพระราชดำริ และผลักดันให้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเป็นวาระแห่งชาติ เกิดการจัดทำกรอบนโยบายระดับชาติด้านการส่งเสริมการวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพเเละระบบนิเวศ รวมถึงการผลักดันให้เกิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นเป็นครั้งแรกที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดขึ้น เพื่อประกาศให้สาธารณชนและผู้กำหนดนโยบายได้รับทราบถึงคุณค่าของทรัพยากรชีวภาพ และพลังของชุมชนในการร่วมกันอนุรักษ์ ดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ สวทช. ยังจัดให้มีการประชุม นำเสนอผลงาน สัมมนา และบรรยายพิเศษจากวิทยากรทั้งในและต่างประเทศ 116 คน จาก 27 ประเทศ ในหัวข้อหลัก 4 หัวข้อ ได้แก่ Species in Natural Ecosystem, Utilization, Impact and Threat, and Biodiversity Management และยังได้เชิญวิทยากรจากนักพฤกษศาสตร์ 16 ท่าน จากสวนพฤกษศาสตร์ชั้นนำของโลก มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับพืชและการรวบรวมพืชในสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญเนื่องจากเป็นแหล่งรวมความรู้และรักษาเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดนิทรรศการที่แสดงความมั่งคั่งทางทรัพยากรชีวภาพของประเทศจากภูเขาสู่ทะเล “Discovers the Treasures and Unique Biodiversity in Thailand (From the Mountain to the Sea) และกิจกรรมสาธิตเพื่อส่งเสริมอาชีพ และการแสดงผลิตภัณฑ์ของชุมชน

ด้านนางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) กล่าวว่า ในการประชุมวิชาการนานาชาติ IBD2019 นี้ สพภ. รับผิดชอบในการจัดนิทรรศการด้วยการรวมพลังของทุกหน่วยงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยทั้งราชการ เอกชน ธุรกิจ และภาคประชาชน รวม 31 องค์กร 25 ชุมชน ร่วมกันจัดกิจกรรมนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “เมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์ ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ” หรือ “Bio-Wealth Country” ประกอบด้วยนิทรรศการ 9 ส่วน อาทิ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการวิทยาศาสตร์และลานเรียนรู้สำหรับเยาวชน นิทรรศการด้านการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนท้องถิ่น นิทรรศการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการเก็บรักษาในระยะยาว นิทรรศการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและอนุรักษ์ รวมทั้งกิจกรรมสาธิตเพื่อส่งเสริมอาชีพ และการแสดงผลิตภัณฑ์ของชุมชน ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ถึงความอุดมสมบรูณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพบนผืนแผ่นดินไทย ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำมาใช้สร้างประโยชน์ พัฒนาประเทศ และสร้างเสริมความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงการดูแลรักษา และการคงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพนั้นๆ ด้วย
