ข่าวทีเอชนิค-บีเคนิกซ์ จัดประชุม BKNIX Peering Forum 2019  - kachon.com

ทีเอชนิค-บีเคนิกซ์ จัดประชุม BKNIX Peering Forum 2019 
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (8 พ.ค.) รศ.สุรศักดิ์ สงวนพงศ์ กรรมการมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (ทีเอชนิค) กล่าวว่า ได้ร่วมกับ บริษัท บีเคนิกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริหารศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เป็นกลางแห่งแรกและแห่งเดียวของไทย จัดประชุม BKNIX Peering Forum 2019 ขึ้นเป็นปีที่ 4 เพื่อเป็นโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ และเปิดโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งจากประเทศไทยและนานาชาติ ได้รับเกียรติจาก ดร.พอล วิกซี (Paul Vixie) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ฟาร์ไซท์ ซีเคียวริตี จากสหรัฐอเมริกา ร่วมกล่าวปาฐกถาและแบ่งปันความรู้ในเรื่องของความปลอดภัยบนไซเบอร์และการใช้ระบบ DNS เป็นเครื่องมือหนึ่งด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ที่น่าจับตาและเป็นประโยชน์ต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในระยะเวลาอันใกล้


“เราจัดงาน BKNIX Peering Forum อย่างต่อเนื่อง เพราะงานนี้ก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมของการให้บริการอินเทอร์เน็ตระดับประเทศ ทั้งเรื่องของการที่ผู้ให้บริการไทยจะได้รับความรู้จากบุคคลชั้นนำในวงการระดับโลก การแลกเปลี่ยนความรู้และโอกาสทางธุรกิจระหว่างกัน สืบเนื่องไปถึงการที่ผู้ใช้บริการทั่วไปจะได้รับบริการที่มีการพัฒนาขีดความสามารถเพิ่มยิ่งขึ้นในราคาที่ถูกลง โดยเฉพาะในครั้งนี้ เรามีผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 200 คน ซึ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยจัดมา และยังมีผู้ร่วมงานต่างชาติ 14 ประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านเราให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากเป็นพิเศษกว่าปีก่อนๆ” 


ทั้งนี้ ภายในงาน BKNIX Peering Forum 2019 นี้ ประกอบด้วยหัวข้อที่กำลังอยู่ในความสนใจมากมาย อาทิ DNS as a Defense Tool, Securing Internet Routing, ASEAN Connectivity, 5G Driven Mechanism และหัวข้ออื่น ๆ อีกมากมาย โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Cloudfare, SuperNAP, APNIC, ISOC เป็นต้น

นอกจากการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกับวิทยากรดังกล่าวแล้ว ในงานยังจัดให้มีจุดเจรจาหาความร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งผู้เข้าร่วมงานประกอบไปด้วย ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต, ผู้ให้บริการโครงข่ายจัดส่งข้อมูล, ผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต, ผู้ให้บริการวงจรสื่อสัญญาณ, ผู้ให้บริการศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูล และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย, บังกลาเทศ, กัมพูชา, กานา,ฮ่องกง, อินเดีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เมียนมา, รัสเซีย, สิงคโปร์, สหรัฐอเมริกา และเวียตนาม เป็นต้น ซึ่งมีผู้อยู่ในธุรกิจสื่อสารและอินเทอร์เน็ตเข้าร่วมงานกว่า 200 คน และได้รับการสนับสนุนจัดงาน อาทิเช่น Symphony, NBTC, APNIC, Facebook, Netflix, NTT Communications Thailand, TCC Technology, 3BB, Akamai, AWS, INET, Internet Society, Supernap, THNIC Company และ NSRC ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้พบตัวแทนจากองค์กรเหล่านี้ในงานอีกด้วย