กสทช.ชี้ทีวีดิจิตอลคืนช่องรับเงินกองทุนได้เลยไม่ต้องรอเคาะคลื่น5จี
ไอที
-
สนับสนุนเนื่อหา
-
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวภายหลังจัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ทีวีดิจิตอลว่า กสทช.ได้ใช้วิธีคำนวณการคืนเงินชดเชยการชำระค่าประมูลโดยจะใช้วิธีคำนวณโดยการนำเงินที่ชำระมาแล้วคูณด้วย 10.5 (ระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลือ) หารด้วย 15 (อายุใบอนุญาตทั้งหมด) โดยหากมีผลประกอบการที่ได้กำไรให้เอามาหักออก รวมถึงสิทธิพิเศษที่รัฐเคยให้คือค่าเช่าดาวเทียมและค่าเช่าโครงข่าย
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะต้องยื่นหนังสือเพื่อขอรับสิทธิการคืนใบอนุญาตภายในวันที่ 10 พ.ค.2562 และกสทช.จะให้เวลาแต่ละรายไปคำนวณเงินที่จะได้ชดเชยเพื่อมายื่นแผนขอเงินเยียวยาภายใน 60 ถ้าไม่ทันจะขยายเวลาให้อีก 30 วัน เพื่อนำเข้าที่ประชุมบอร์ดกสทช.เพื่อกำหนดวันยุติการออกอากาศภายใน 30 วัน หลังจากจอดำแล้ววันรุ่งขึ้นก็จะได้รับเงินชดเชยทันที เนื่องจากใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)ในการจ่ายแทนไปก่อนแล้วค่อยนำเงินจากการประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ มาคืนกองทุนกทปส.ภายหลัง
“ขอให้มั่นใจว่ากสทช.จะมีเงินมาจ่ายชดเชยผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลแน่นอน เพราะช่วงเช้าวันนี้มีผู้ประกอบการโทรคมนาคมมายื่นความจำนงในการเข้าร่วมจัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ตซ แล้วจำนวน 1 ราย จึงอยากให้ผู้ประกอบการสบายใจได้ว่าจะมีแต่ได้กับได้” นายฐากร กล่าว
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฏหมายไอที กล่าวว่า ต้องดูต้นทุนของแต่ละช่องว่าเป็นอย่างไรที่ผ่านมาสภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง แนวโน้มการบริโภคสื่อมุ่งไปที่ OTT การเปิดให้คืนใบอนุญาตได้อาจจะเป็นที่ต้องการของช่องที่มีต้นทุนประกอบการมาก อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากรู้คือสูตรที่ใช้คำนวณใบอนุญาตที่ชัดเจนเป็นอย่างไร ถ้ามีการคืนใบอนุญาตเยอะโอกาสที่กสทช.จะได้คลื่นมาจัดสรรจะมีมากขึ้น และสิ่งที่ผู้ประกอบการจะใช้ตัดสินใจคือการเปรียบเทียบ สิ่งที่จ่ายไปกับสิ่งที่ได้กลับมาคุ้มค่าหรือไม่