ข่าววช.-สกว.พร้อมรับการเปลี่ยนผ่านสู่กระทรวงใหม่ - kachon.com

วช.-สกว.พร้อมรับการเปลี่ยนผ่านสู่กระทรวงใหม่
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้(1 พ.ค.2562)ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล  เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  กล่าวว่า   กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วในวันนี้ (1  พ.ค. 2562)และมีผลใช้บังคับในวันที่ 2 พ.ค. 2562  มีผลให้ วช.  หรือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  ได้ปรับเป็น  “สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ” มีหน้าที่ใน 7 ภารกิจที่สำคัญในระดับประเทศ โดยเป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ จัดทำฐานข้อมูลและดัชนีวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ริเริ่ม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ  จัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย  ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์  ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและนวัตกรรม และการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคลหรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม

ทั้งนี้ วช. ได้เตรียมการเรียบร้อยแล้ว พร้อมปฏิบัติงานได้ทันที  โดยเฉพาะด้านการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ ซึ่ง วช. ได้นำเสนอทิศทางใหม่ของระบบทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ คือ1.Multi-year funding ด้วยการจัดสรรเงินตามกรอบวงเงินจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่องจนโครงการสำเร็จได้ 2. Outcome- and impact- driven เพื่อให้ทุนในเชิงรุกตามประเด็นยุทธศาสตร์ให้เกิดผลลัพธ์และผลกระทบสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ   3. Synergy & partnership เชื่อมโยงและเสริมพลัง ระหว่างหน่วยให้ทุน (วช., สวก., สวรส.) มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยทั้งในและนอกกระทรวง และการให้ทุนวิจัยครอบคลุมการวิจัยพื้นฐาน วิจัยประยุกต์ ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมทั้ง สหสาขาวิชาการ และเชื่อมกับการพัฒนาบุคลากรวิจัยและการให้รางวัล   และ  4. Streamlined process โดยพัฒนากลไกการทำงานด้วยระบบ Online 100% 5G- funding, กลไก ODU,Program Funding และ Matching Fund และ Monitoring and Evaluation โดยผู้ใช้ผลการวิจัย

ในวันเดียวกันนี้  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย  หรือสกว. ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่จะเข้ามาอยู่ในโครงสร้างใหม่ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการจัดการประชุมสำนักประสานงานและภาคีเครือข่าย สกว. เรื่อง “ภารกิจใหม่ของ สกว. และบทบาทของภาคีเครือข่าย”  เพื่อรายงานสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับโครงสร้าง หน่วยงาน บทบาทหน้าที่ และกลไกการทำงานของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงบทบาทของภาคีเครือข่ายกับภารกิจใหม่ ซึ่งสกว.จะปรับบทบาทไปเป็นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  หรือ สกสว.  

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว.   กล่าวว่า ภารกิจใหม่ของ สกสว. คือ การจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จัดสรรเงินทุน และเป็นกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
“บทบาทใหม่ของเรา คือ การสนับสนุน ส่งเสริม ขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นการดูแลเชิงระบบ โดยจัดสรรงบประมาณจากกองทุนไปสู่หน่วยงานวิจัย รวมถึงยกร่างยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเป็นการปฏิรูประบบครั้งสำคัญผ่านประสบการณ์การบริหารจัดการทุนวิจัยของ สกว. ออกแบบการทำแผนเพื่อให้เกิดผลกระทบในระบบของประเทศเพื่อให้สามารถก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางในอนาคต สิ่งที่เราอยากทำในขณะนี้ คือ การบริหารงบวิจัยโดยจัดสรรงบประมาณไปที่มหาวิทยาลัยโดยตรง  ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยวิจัยให้เกิดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ รวมถึงการริเริ่มโครงการขนาดใหญ่ จึงหวังว่าจากนี้ไปทุกคนจะอดทนและช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ ใกล้ชิดเสมือนเป็นเพื่อนกัน ทั้งนี้ การรับงบประมาณตรงจากสำนักงบประมาณในปี 2564 ทั้งหมดจะจัดสรรมาที่กองทุนเพื่อส่งต่อไปที่มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ซึ่งจะเป็นการลดขั้นตอนและระยะเวลา”

สำหรับการระดมสมองจากผู้ประสานงานและภาคีเครือข่าย สกว.  สรุปบทเรียนสำคัญได้ว่า จะต้องมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานและบุคลากร มีตัวเชื่อมโยงที่สอดรับกับเป้าหมายเพื่อให้ตอบโจทย์และเกิดผลกระทบที่แท้จริง โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับ วช. ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานให้ทุนแก่นักวิจัย โดยผู้ประสานงานส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลในช่วงเปลี่ยนผ่านว่าจะมีกลไก กระบวนการทำงาน และเชื่อมโยงอย่างไรให้งานดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ทั้งงานที่ยังทำอยู่และงานในอนาคต  เพราะวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรที่แตกต่างกัน


นอกจากนี้ยังต้องมีการสื่อสารสังคมถึงการเปลี่ยนแปลง ผลกระทบที่เกิดขึ้น และการเตรียมพร้อมรับมือกับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ภาคเอกชน เครือข่ายวิจัยในพื้นที่ เป็นต้น รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับระบบสนับสนุนแก่มหาวิทยาลัยที่มีประเด็นสำคัญคือ ระบบมหาวิทยาลัยไม่เอื้ออำนวยต่อการทำวิจัย นักวิจัยยังไม่พัฒนาตัวเองเพื่อเป็นนักวิจัยมืออาชีพ ต้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยและบันไดอาชีพของนักวิจัย กระบวนการบริหารจัดการงานวิจัย หารือทิศทางการให้ทุนที่ชัดเจน และถอดบทเรียนเพื่อยกระดับการสร้างคนสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งระบบ

ในส่วนของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก งานชุมชนท้องถิ่นและพื้นที่ ซึ่ง สกว.มีเครือข่ายพี่เลี้ยงอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศนั้น ผู้ประสานงานมุ่งหมายให้งานวิจัยท้องถิ่นยังต้องคงอยู่ในระบบการบริหารทุนวิจัย เพราะเป็นพลังในการสร้างความเข้มแข็งให้กับคนในพื้นที่ จึงมีข้อเสนอระยะสั้นว่าจะต้องมีการจัดตั้งกลไก 2 ระดับ คือ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการกำหนดกรอบทิศทาง และคณะทำงานซึ่งต้องอาศัยเครือข่ายพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์ มาร่วมทำงานเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานเดิมในการทำงานร่วมกับพื้นที่ ส่วนการเตรียมความพร้อมระยะยาว น่าจะเป็นองค์กรวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่มีรูปแบบชัดเจน อิสระคล่องตัว โดยจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระหรือองค์การมหาชน ซึ่งจะต้องมีการวิจัยเพื่อศึกษากลไกและความเป็นไปได้