ข่าวสวทน.พร้อมพลิกโฉมสู่ สอวช. มีผล 2 พ.ค.นี้ - kachon.com

สวทน.พร้อมพลิกโฉมสู่ สอวช. มีผล 2 พ.ค.นี้
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
นนี้ (1 พ.ค.62 ) ดร.กิติพงค์   พร้อมวงค์    ในฐานะผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ    หรือ  สอวช. เปิดเผยว่า  ตามที่ รัฐบาลได้ริเริ่มการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ โดยรวมหน่วยงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน เป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีเป้าหมายขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21  โดยการปฏิรูป 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การปฏิรูปการบริหารราชการ เพื่อให้มีการบูรณาการการทำงานด้านวิจัยและการสร้างบุคลากร 2. การปฏิรูปกฎระเบียบ เพื่อผลักดันให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมสามารถสร้างประโยชน์ต่อทั้งเศรษฐกิจ สังคม และชุมชน และ 3. ปฏิรูประบบงบประมาณ ด้วยการปรับรูปแบบและวิธีการทางงบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

ขณะนี้พระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสำนักงานราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศ พ.ร.บ. ดังกล่าว   มีผลทำให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปลี่ยนเป็น “สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” หรือ สอวช. ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป  

ดร.กิติพงค์    กล่าวว่า ระหว่างเส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับการจัดตั้งกระทรวงใหม่  เพื่อให้องค์กรสามารถรองรับภารกิจใหม่ได้อย่างไร้รอยต่อและสามารถตอบสนองนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด  โดยบทบาทหน้าที่ของ สอวช. ภายใต้กระทรวงใหม่นี้ มีความสำคัญและมีความท้าทายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนและงบประมาณ รวมถึงการติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้าน อววน. ของประเทศ รวมถึงจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือซุปเปอร์บอร์ด ที่มีนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน โดยสภานโยบายฯ มีหน้าที่ในการเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการ อววน. ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และแผนอื่น รวมทั้งนโยบายของรัฐบาล ต่อคณะรัฐมนตรี และพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้าน อววน.  ของประเทศ ก่อนที่สำนักงบประมาณจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี

ส่วนนโยบายและยุทธศาสตร์จากสภานโยบายฯ จะส่งต่อให้คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะกรรมการการอุดมศึกษาและคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา นำไปแปลงสู่การปฏิบัติให้สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก เชื่อมโยงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนและภาครัฐ และสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน


“สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการจะทำหน้าที่รับผิดชอบงานวิชาการและงานธุรการของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด และมีหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของสภานโยบายเพื่อกำหนดทิศทางพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับโลกได้ โดยใช้การวิจัยและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคม รวมทั้งสนับสนุนการนำผลงานวิจัย และนวัตกรรมที่สำเร็จแล้วไปสู่การผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ” ดร.กิติพงค์ กล่าว
 
สำหรับอำนาจหน้าที่ของ สอวช. ตาม พ.ร.บ. สภานโยบาย ฯ ประกอบด้วย 1.  รับผิดชอบงานวิชาการและงานธุรการ สนับสนุนสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะกรรมการ คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง และคณะอนุกรรมการ   2.  เสนอความเห็นเกี่ยวกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ของประเทศ   3.เสนอความเห็นเกี่ยวกับกรอบวงเงินงบประมาณประจำปีด้าน อววน. ของประเทศ รวมทั้งระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการ  4.เสนอความเห็นเกี่ยวกับการเร่งรัดและติดตามให้มีการเสนอหรือการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับ อววน.   5. สนับสนุนการดำเนินการ การติดตามและประเมินผลของคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง   6.  ประสานงานให้มีการจัดทำ บูรณาการ และเชื่อมโยงฐานข้อมูลการอุดมศึกษาฐานข้อมูลมาตรฐานการอุดมศึกษา และฐานข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลดังกล่าว   และ 7.    ประสานงานและให้ความร่วมมือกับส่วนราชการหน่วยงานอื่นของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับด้าน อววน.
 
อย่างไรก็ตาม การทำงานของ สอวช. ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน      ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการอุดมศึกษา ภาคสังคมและชุมชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (Thailand 4.0) และเพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยนโยบายที่ขับเคลื่อนจะไม่ใช่แค่เพียงนโยบายที่ตอบโจทย์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย หรือนวัตกรรมเท่านั้น แต่จะให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการอุดมศึกษา สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ควบคู่ไปด้วย
 
สำหรับภารกิจที่มีความท้าทาย และมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ การเซทระบบบริหารการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่ สอวช. จะต้องทำหน้าที่ในการสนับสนุนงานวิชาการก่อนเสนอต่อสภานโยบายฯ คณะกรรมการ คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง และคณะอนุกรรมการ รวมทั้งประสานงานและติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทำหน้าที่ออกแบบระบบการทำงานและกระบวนการที่สำคัญของกระทรวงฯ รวมทั้งพัฒนาข้อเสนอนโยบาย มาตรการ กฎหมาย และกลไกเพื่อส่งเสริมการพัฒนา อววน. รวมทั้งจัดทำข้อเสนอกรอบงบประมาณด้าน อววน. ของประเทศ และระบบจัดสรรและบริหารงบประมาณในด้านดังกล่าว ตลอดจนออกแบบระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้าน อววน. ของประเทศ
นอกจากนี้ ในด้านนโยบายการอุดมศึกษา ต้องมีการทำงานบูรณาการ และเชื่อมโยงการอุดมศึกษาเข้ากับ วทน.  ซึ่งจะทำให้มีพลังมากขึ้น โดยบทบาทของงานด้านนโยบายการพัฒนากำลังคนและการอุดมศึกษา ของ สอวช.     จะดำเนินการจัดทำนโยบายพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครอบคลุมทั้งการผลิตบัณฑิตและบุคลากรในระบบวิจัยและนวัตกรรม การจัดทำข้อเสนอนโยบาย มาตรการหรือสิทธิประโยชน์สำหรับการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามนโยบายที่สำคัญของประเทศ พัฒนาระบบกลไกการขับเคลื่อน     การอุดมศึกษาในด้านการวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาระบบสร้างความร่วมมือการผลิตและการใช้ประโยชน์บุคลากรในระบบวิจัยและนวัตกรรม มีการวิจัยเชิงนโยบายผ่านการทดลองในโครงการนำร่อง ตลอดจนมีการประเมินผลการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในอนาคตอาจจำเป็นต้องมีการขยายขอบเขตงานที่กว้างขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ตามนโยบายของกระทรวงต่อไป
 
 ส่วนงานสำคัญด้านยุทธศาสตร์วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะดำเนินการทำงานเชิงรุกมากยิ่งขึ้น โดยจะมีการจัดทำข้อเสนอแนะวาระการพัฒนาด้าน อววน. ของประเทศ พัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์      การลงทุนด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พัฒนามาตรการส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปใช้เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ และสังคม ชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะยุทธศาสตร์การวิจัยด้านสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และความร่วมมือกับต่างประเทศด้าน อววน. รวมถึงภารกิจในการเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการกำหนดนโยบาย เป็นต้น