ข่าว"ไลน์ จ๊อบ"หวังขึ้นแท่นแพลตฟอร์มหางานอันดับ 1 ในไทย - kachon.com

"ไลน์ จ๊อบ"หวังขึ้นแท่นแพลตฟอร์มหางานอันดับ 1 ในไทย
ไอที

photodune-2043745-college-student-s

วันนี้( 30 เม.ย.) น.ส.ธนิยา ตรัยวัฒนา หัวหน้าธุรกิจ ไลน์ จ๊อบ (LINE JOBS) ไลน์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า  หลังเปิดให้บริการครบหนึ่งปี ไลน์ จ๊อบ ได้รับการตอบรับจากทั้งผู้จ้างงานและผู้สมัครงานดีเกินเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ โดยมีผู้ติดตามในระบบกว่า 7 ล้านคน มีงานที่เปิดรับสมัครใน ไลน์ จ๊อบแล้วมากกว่า 390,000 อัตรา จากผู้จ้างงานกว่า 18,000 บริษัท และมีผู้ส่งใบสมัครงานในระบบกว่า 1 ล้านใบสมัคร โดยมีการเรียกสัมภาษณ์งานกว่า 200,000 ครั้ง ภายในปี 62 ตั้งเป้าจำนวนผู้ติดตามไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน โดยคาดว่าจะมีผู้ส่งใบสมัครไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านใบสมัคร และจะมีการเรียกสัมภาษณ์งานไม่น้อยกว่า 240,000 ครั้ง โดยตั้งเป้าอัตราการเพิ่มขึ้นของใบสมัครและจำนวนการถูกสัมภาษณ์ผ่านทางไลน์ จ๊อบไม่ต่ำกว่า 40% ภายในสิ้นปีนี้

 
 “ทรัพยากรบุคคลถือเป็นหัวใจสำคัญของทุกธุรกิจ แต่กว่าที่จะได้คนที่เหมาะกับงานเพื่อช่วยให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้า เรายังพบว่าหนึ่งในขั้นตอนที่ยังมี pain point มากมายที่รอคอยการแก้ไข คือ การรับสมัครงาน ซึ่งแม้จะมีช่องทางการจัดหางานออนไลน์เป็นช่องทางหลักอยู่แล้ว แต่พบว่ายังมีอุปสรรคทั้งผู้จ้างงานและผู้สมัครงาน อาทิ ความล่าช้า ราคาสูง ต้องลงทะเบียนและกรอกข้อมูลจำนวนมาก ทำให้ยอดผู้หางานผ่านเว็บไซต์มีจำนวนไม่เกิน 2 ล้านคน สะท้อนถึงจำนวนผู้จ้างงานและผู้สมัครงานที่ยังอยู่บนโลกออฟไลน์อีกมาก ด้วยโอกาสที่มองเห็นประกอบกับข้อได้เปรียบของ ไลน์ที่มีผู้ใช้งานทั่วประเทศกว่า 44 ล้านคน จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาแพลตฟอร์มหางานที่ปักธงไว้ชัดเจนว่าจะพัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับและแก้ปัญหาตลาดแรงงานไทยแบบรอบด้านบนแอพพลิเคชั่นไลน์”


น.ส.ธนิยา  กล่าวต่อว่า สำหรับแผนงานต่อจากนี้ จะยังคงเดินหน้าเจาะตลาดแรงงานสำหรับกลุ่มปฏิบัติการ หรือ semi-skilled อาทิ อาชีพงานแรงงานทั่วไป แรงงานด้านการผลิต พนักงานบริการ พนักงานขาย เสมียน เจ้าหน้าที่ทั่วไป ที่ถือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีสัดส่วนถึง 42 เปอร์เซ็นต์ของตลาดแรงงานไทยทั้งหมด และยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราการลาออกสูงถึง 30 – 300% ต่อปี จึงเป็นกลุ่มแรงงานที่ผู้จ้างงานต้องหาลูกจ้างมาเติมในธุรกิจอยู่ตลอดเวลา และยังไม่มีแพลตฟอร์มหางานใดที่เข้ามาจับตลาดในกลุ่มนี้อย่างจริงจัง และวางกลยุทธ์เชิงรุกสู่การเป็นผู้นำอันดับหนึ่งแพลตฟอร์มหางานสำหรับกลุ่มปฏิบัติการ (Semi-Skilled) ภายในปี 63




นอกจากนี้วางแผนจะขยายประเภทงานให้ครอบคลุมความต้องการที่เพิ่มขึ้น จากเดิม 8 ประเภทงาน 6 ธุรกิจ เป็น 22 ประเภทงาน 40 ธุรกิจ เพื่อรองรับงานที่หลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ, หัวหน้างาน รวมทั้งงานประเภทพาร์ทไทม์ และฟรีแลนซ์ และการขยายฐานองค์กรผู้ใช้งานโดยการออกแบบแพ็คเกจใช้งานให้ตอบโจทย์องค์กรทุกขนาดทั้งใหญ่ กลาง เล็ก และการจับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับตลาดแรงงานและสนับสนุนองค์กรให้ได้มีแรงงานคุณภาพในการผลักดันธุรกิจให้เติบโตในอนาคต
 

“ข้อได้เปรียบที่ทำให้ ไลน์ จ๊อบ แตกต่างจากแพลตฟอร์มหางานอื่นคือ การเป็นองค์กรเทคโนโลยีจึงทำให้ปรับตัวได้เร็ว และมีทีมพัฒนาทำให้สามารถดูแลระบบ รับฟังฟีดแบคจากผู้ใช้งานได้ตลอดเวลา จึงทำให้มีการพัฒนาระบบอยู่เสมอเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนในยุคปัจจุบัน คือ สะดวก ง่าย รวดเร็ว ทำให้ขั้นตอนกรอกข้อมูลสมัครงาน สามารถทำได้ภายในระยะเวลาอันเร็ว ส่งผลให้การจับคู่ หรือแมทชิ่งระหว่างคนกับงานง่ายและสมบูรณ์ที่สุด” ธนิยา กล่าว