ข่าวราชบัณฑิตยสภาจับมือเนคเทคพัฒนาระบบศัพท์บัญญัติ ฯ ออนไลน์  - kachon.com

ราชบัณฑิตยสภาจับมือเนคเทคพัฒนาระบบศัพท์บัญญัติ ฯ ออนไลน์ 
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้(30 เมษายน 2562)  นางสาวกนกวลี  ชูชัยยะ  เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า การบัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยเป็นภารกิจหลักประการหนึ่งของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เพื่อให้มีคำภาษาไทยใช้แทนศัพท์ภาษาต่างประเทศในสาขาวิชาต่าง ๆ   สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้ดำเนินงานบัญญัติศัพท์มาตั้งแต่ พ.ศ.2485  เมื่อครั้งเป็นราชบัณฑิตยสถาน  โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยทำหน้าที่บัญญัติศัพท์คำภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด  ปัจจุบันสำนักงานราชบัณฑิตยสภาสามารถพัฒนาและขยายงานบัญญัติศัพท์ออกเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ มากมาย  โดยมีคณะกรรมการวิชาการเฉพาะสาขาเป็นผู้รับผิดชอบ  ทั้งนี้ ศัพท์บัญญัติสาขาต่าง ๆ ที่แล้วเสร็จ ได้มีนำเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์     
 ล่าสุด ....สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  พัฒนา “ระบบศัพท์บัญญัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ออนไลน์”  ขึ้น โดยให้บริการผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา www.royin.go.th  โดยเป็นข้อมูลศัพท์บัญญัติวิชาการที่ปรับปรุงล่าสุด ใน  15 สาขา คือ ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ  ศัพท์วิทยาศาสตร์ ศัพท์พลังงาน (เธอร์โมไดนามิกส์)  ศัพท์เทคโนโลยีทางภาพ  ศัพท์ยานยนต์และเครื่องยนต์  ศัพท์เศรษฐศาสตร์  ศัพท์นิติศาสตร์  ศัพท์ภูมิศาสตร์  ศัพท์ประกันภัย  ศัพท์สังคมวิทยา  ศัพท์ภาษาศาสตร์ทั่วไป  ศัพท์ภาษาศาสตร์ประยุกต์  ศัพท์ศิลปะ  ศัพท์วรรณกรรม  และศัพท์สถาปัตยกรรม  

ด้าน ดร.เทพชัย  ทรัพย์นิธิ   นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัย เทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย(LST) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  บอกว่า  เนคเทค พัฒนาระบบดังกล่าวตั้งแต่ปี 2561  โดยใช้แพลตฟอร์มพจนานุกรมเล็กซิตรอนของเนคเทค  ซึ่งจุดเด่นของระบบนี้คือสามารถค้นหาได้  15 สาขาวิชา  ทั้งในรูปแบบค้นจากศัพท์ และจากหมวดตัวอักษร   สำหรับการพัฒนาต่อยอดนั้น  หากระบบเป็นที่สนใจและมีผู้เข้าใช้งานมากขึ้น    ก็จะมีการเพิ่มเติมทั้งในส่วนของสาขาวิชาอื่น ๆ และในส่วนของคำอธิบายในแต่ละคำให้มากขึ้นได้