ข่าว"เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล"โต้ข่าวเอี่ยวได้รับเยียวยาทีวีดิจิตอล - kachon.com

"เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล"โต้ข่าวเอี่ยวได้รับเยียวยาทีวีดิจิตอล
ไอที

photodune-2043745-college-student-s

วันนี้( 29 เม.ย.) ที่บริษัท ไทย ทีวีพูล จำกัด ซอยลาดพร้าว 101 นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวีพูล จำกัด และบริษัท ไทยทีวี จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.62 ที่ผ่านมา ได้เข้าไปพบนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เพื่อขอทราบรายละเอียดในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ถึงหลักเกณฑ์ และขอบเขตว่ามีประโยชน์กับบริษัทฯ อย่างไรหรือไม่ หลังได้บอกเลิกสัญญาใบอนุญาตประกอบกิจการทั้ง 2 ช่องไปก่อนหน้านี้แล้ว


ทั้งนี้หลังจากสอบถามไปจึงทราบว่า คำสั่งดังกล่าวใช้ได้กับผู้ถือใบอนุญาตเท่านั้น ส่วนมาตรการเยียวยาค่าเสียหายยังไม่มีความชัดเจน ต้องรอการแต่งตั้งอนุกรรมการเยียวยาเสียก่อน ดังนั้น บริษัทฯ ยืนยันว่าจะไม่เข้าเงื่อนไข ตามมาตรา 44 ดังกล่าว เพราะบริษัทฯ ได้บอกเลิกสัญญากับ กสทช. ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 พ.ค.58 และได้ยื่นฟ้อง กสทช.เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.58


นอกจากนี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มี.ค.61 ระบุว่ากสทช. ผิดสัญญา ซึ่งการดำเนินการของ กสทช.ในการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิตอลเกิดความล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนงานและตามที่ กสทช.ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้เข้าร่วมประมูล ไม่ว่าจะเป็นการแจกคูปองที่เป็นไปอย่างล่าช้าเป็นเวลาถึง 6 เดือน นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์ทำได้ไม่ทั่วถึง ประชาชนไม่มีความเข้าใจและขาดความเชื่อมั่น รวมทั้งการขยายโครงข่ายเป็นไปอย่างล่าช้า


ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา เมื่อวันที่ 17 เม.ย.61 เรียกเงินคืนและค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,134,991,689.22 บาท เนื่องจากกสทช.ผิดสัญญาและคำมั่นละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ดังนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 กสทช.ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดให้แก่บริษัทไทยทีวี


“การที่มีกระแสข่าวว่าไทยทีวี จะฉวยโอกาสเอี่ยวเพื่อรับการเยียวยาตามมาตรา 44 นั้น ยืนยันว่า บริษัทฯไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับการเยียวยา เพราะได้เลิกสัญญาและคืนใบอนุญาตไปแล้ว จึงยืนยันว่าจะดำเนินคดีต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุด แต่หากทาง กสทช.ต้องการที่จะเจรจาไกล่เกลี่ย โดยใช้มาตรา 44 เทียบเคียงในการกำหนดค่าเสียหาย เป็นหน้าที่ของทาง กสทช. ที่จะพิจารณาชดใช้ค่าเสียหายที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่บริษัทต่อไป”


นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการคืนช่อง 3 ช่อง หลังมีประกาศจากหัวหน้า คสช. มาตรา 44 จากเดิมที่มีกระแสข่าวว่าจะคืน 5 ช่อง เพราะกสทช. ยังไม่มีข้อมูลรอบด้าน และมีความล่าช้าในการตั้งคณะอนุกรรมการฯ ในการแก้ปัญหา ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความลังเล ตัดสินใจที่ยากมาก เพราะถ้าคืนแล้ว จะกลับมาทำธุรกิจอีกยากมาก


อย่างก็ตามเสนอให้ กสทช. นำเงินจากกองทุน กทปส. ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการฯ แทนการรอเงินจากการประมูล 5จี ในเดือน มิ.ย.63 พร้อมประเมินอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลว่า ประเทศไทย ควรมีทีวีประเภทธุรกิจ 13 ช่อง และทีวีของรัฐที่ไม่ต้องมีโฆษณา อีก 3 ช่อง ทั้งนี้ ตนไม่เสียดายที่ยุติการประกอบธุรกิจทีวีดิจิตอล เพราะที่ผ่านมาขาดทุนหนักมาก.