"การีนา"จับสกินคนไทยออกแบบใส่ในเกม RoV
ไอที
วันนี้( 29 เม.ย.) นายกฤตย์ พัฒนเตชะ Head of Garena Online (Thailand) เปิดเผยว่า โครงการแข่งขัน ‘amazing RoV Design Contest’ เป็นการแข่งขันประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายของตัวละคร (สกิน) ของเกม ‘Arena of Valor’ (RoV) สุดยอดเกมบนมือถือแนว ‘Multiplayer online battle arena’ หรือ ‘MOBA’ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดขึ้นเพื่อเป็นการประยุกต์นำเอาดิจิตัลคอนเทนต์ (Digital Content) หรือ สื่อสารสนเทศที่มีรูปแบบเป็นดิจิตอล อาทิ คอนเทนต์บนเกม ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เข้าถึงคนได้ง่ายและทั่วถึง มาประชาสัมพันธ์ด้าน อัตลักษณ์ความเป็นไทย รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ผ่านมุมมองและรูปแบบสื่อใหม่ จากตัวละครในเกม ‘RoV’ ที่ได้รับความนิยมจากเกมเมอร์ทั่วโลก
โดยผงานสกิน ‘Sacred Sentinel Arum’ นอกจากจะได้รับตำแหน่งผู้ชนะแล้ว ผลงานการออกแบบยังได้ถูกนำไปพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในตัวเกมจริงและเปิดให้ผู้เล่นเกม ‘RoV’ ทั่วโลกมีโอกาสได้เลือกใช้ชุดของตัวละคร แล้ว ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา
นายกฤตย์ กล่าวต่อว่า การประยุกต์ใช้สกินบนเกม ‘RoV’ เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในเชิงท่องเที่ยวสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของดิจิตัลคอนเทนต์อย่างเกมที่มีบทบาทในฐานะสื่อของคนยุคใหม่มากขึ้น และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมดิจิตัลคอนเทนต์ที่มีต่อประเทศไทยในเชิงเศรษฐกิจ โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยผลสำรวจมูลค่าดิจิตัลคอนเทนต์ของปี 2560 ในประเทศไทย ครอบคลุมสามสาขาหลักได้แก่ อุตสาหกรรมแอนิเมชัน อุตสาหกรรมเกม และอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ มีมูลค่ารวมกันประมาณ 25,040ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมแอนิเมชัน จำนวน 3,799 ล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมคาแรคเตอร์มีมูลค่ารวม 1,960 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเกมมีมูลค่ารวมที่ 19,281 ล้านบาท
สำหรับอุตสาหกรรมเกมของประเทศไทยในปี 2562 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก Newzoo ประเมินว่าประเทศไทยมีรายได้มากที่สุดเป็นอันดับ 19 ของโลก ที่ 667 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 21,344ล้านบาท พร้อมจำนวนเกมเมอร์และแฟนเกมมากถึง 18.3 ล้านคน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ยังคาดว่า อุตสาหกรรมเกมจะโตขึ้นราว 12% ต่อปี ปัจจัยเติบโตส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของสื่อดิจิตัลและด้านการผลิตของภาคอุตสาหกรรมดิจิทตัลคอนเทนต์ อุตสาหกรรมดิจิตัลคอนเทนต์จึงเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจ สู่การสร้างมูลค่าทางการค้าเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์(Creative Economy) ตามแนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) โดย เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า ‘โภคภัณฑ์’ ไปสู่สินค้าเชิง ‘นวัตกรรม’และ เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม
“การแข่งขัน amazing RoV Design Contest สะท้อนให้เห็นถึงความเติบโตและความซับซ้อนของอุตสาหกรรมเกม ที่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าตลาดเติบโตสูง สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและอาชีพใหม่ๆ ที่น่าสนใจในยุคดิจิตัล เช่น นักออกแบบชุดและตัวละครในเกม ที่สำคัญยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเกมในการเป็นดิจิตัลคอนเทนต์ที่สามารถสื่อสารเอกลักษณ์ความเป็นไทย ความน่าสนใจของประเทศไทย ออกไปยังคอมมูลนิตี้เกมเมอร์อื่นๆ จากทั่วโลก การีนาจึงมุ่งมั่นผลักดันให้เกมกลายเป็นสื่อที่ช่วยประชาสัมพันธ์ความเป็นไทยอย่างต่อเนื่อง” นายกฤตย์กล่าว
ทั้งนี้ สกิน ‘Sacred Sentinel Arum’ เป็นผลงานการออกแบบ โดยนายณัฐพล เพชรไทย มีแรงบันดาลในการออกแบบจากสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย และเป็นการออกแบบบนตัวละครฮีโร่ อารัม (Arum) โดยตัวละครอารัมมีหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโลกต่างๆ เข้าด้วยกัน สีของสกิน ‘Sacred Sentinel Arum’ จึงเน้นสีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์เเละโลกเบื้องบน สีดำจากเเขนเเละขาหมายถึงกิเลสเเละโลกเบื้องล่าง โดยมีตัวอารัมซึ่งออกเเบบมาจาก เเมววิเชียรมาศ เป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมต่อของโลกลี้ลับ อีกทั้งยังเป็นเเมวของไทยอีกด้วย รูปทรงของ สกินโดยรวมจะเป็นสามเหลี่ยม หมายถึง อนิจจัง ทุกขัง เเละอนัตตา
ชุดที่ใส่ทำจากผ้าซิ่นซึ่งเป็นผ้าทอของชาวภาคเหนือ สีเงิน เกราะเเขนด้านข้างมาจากคชสีห์ ซึ่งเป็นเหมือนสัตว์ที่อยู่ในป่าหิมพานต์ เครื่องประดับที่หน้าอก เเละด้านหน้า มาจากงานศิลปะตกเเต่งภายในวัด ผ้าด้านข้างยาว เปรียบเสมือนสะพาน หมายถึง การเดินข้ามจากวัฏสงสารสู่พุทธภูมิ อารัมยังมีประตูมิติด้านหลัง ประกอบด้วยกรอบด้านนอกประตู เป็นเขี้ยว หรือปากพญามาร หมายถึง กิเลส วงด้านในเป็น วงเเหวนขนาดใหญ่ซึ่งหมายถึง วัฐจักรสงสาร ด้านในโลกอีกด้านหนึ่ง ประดับด้วยกระจก ส่วนของสัตว์อัญเชิญออกแบบมาจากอสูรเเละทวารบาลผู้เฝ้าสะพาน.