ข่าวตรวจน้ำตาลแบบไม่ต้องเจาะเลือด  นวัตกรรมฝีมือวิศวะ สจล. - kachon.com

ตรวจน้ำตาลแบบไม่ต้องเจาะเลือด  นวัตกรรมฝีมือวิศวะ สจล.
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (25 เมษายน 2562) ที่หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค ) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้จัดงาน  “KMITL Engineering Project Day 2019”   ขึ้น เพื่อแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์จากฝีมือนักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ กว่า 400 ผลงาน   
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์   สุวรรณสวัสดิ์  อธิการบดี สจล.  กล่าวว่า วิศวกรรมศาสตร์เป็นสาขาวิชาที่มีบทบาทหลักในการสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ อำนวยความสะดวกและสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น วิศวกรจึงถือเป็น “ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม” เพื่อเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสังคมความเป็นอยู่ ดังนั้น การผลิตบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว รวมไปถึงตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิตหลัก และอุตสาหกรรมในกลุ่มดิจิทัลใหม่ นอกจากนี้ วิศวกรจะต้องมีความรู้ควบคู่จรรยาบรรณวิชาชีพ ความรับผิดชอบต่อสังคม และผลกระทบที่อาจจะก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน  มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์   สจล. กล่าวว่า   สจล. ได้จัดงานแสดงโครงการด้านวิศวกรรม ประจำปี 2562 หรือ KMITL Engineering Project Day 2019  ขึ้น เพื่อกระตุ้นบรรยากาศการเรียนรู้ในรูปแบบแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง (Active Learning) ที่มีเป้าหมายให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ในห้องเรียนสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม งานวิจัย และสิ่งประดิษฐ์ สร้างวิศวกรที่มีทั้งความรู้ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานจริง เรียนรู้การแก้ไขปัญหา และการทำงานเป็นทีมของนักศึกษา   นอกจากนี้ จะมีการเรียนรู้ในรูปแบบสหวิทยาการ ระหว่างสาขาของคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อจุดประกายแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมให้กับนักศึกษาต่อไป

ทั้งนี้ภายในงานได้มีการแสดงผลงานที่เป็นนวัตกรรมเด่น  เช่น เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่สัมผัสร่างกาย    ที่พัฒนาขึ้นเพื่อลดการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์จากการตรวจระดับน้ำตาลแบบเจาะเลือด ที่ต้องใช้แผ่นตรวจน้ำตาลที่มีราคาสูง ราว 25 – 40 บาท ต่อชิ้น  และยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ  ทีมนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จึงพัฒนาเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบใหม่ขึ้นโดยอาศัยหลักการของอิมพีแดนซ์  สามารถวัดค่าน้ำตาลในเลือดได้โดย ไม่ต้องเจาะเลือด  แต่อาศัยหลักการความสามารถในการนำไฟฟ้าของน้ำตาลในเลือดมาเป็นตัวแปรในการหาระดับน้ำตาลในเลือดแทน    ซึ่งอนาคตสามารถประยุกต์ใช้งานกับการตรวจวัดอื่น ๆ  ได้

ส่วนระบบการจัดการวันเก็บเกี่ยวทุเรียนบนสมาร์ทโฟนด้วยเทคโนโลยี RFID  เป็นผลงานนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากภาควิชาวิศวกรรมเกษตร  ที่พัฒนามาเพื่อช่วยแก้ปัญหาความคลาดเคลื่อนของข้อมูล    เนื่องจากเดิมเกษตรกรชาวสวนทุเรียน จะใช้การจดบันทึกหรือความจำในการจัดการข้อมูลวันดอกบานหรือข้อมูลอื่นๆ  ระบบนี้จะใช้แท็ก RFID เป็นอุปกรณ์ในการระบุตัวตนของต้นทุเรียนและใช้แอพพลิเคชันเป็นเครื่องมือหลักในการจัดการข้อมูล  เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำหรับบริหารจัดการการเก็บเกี่ยวทุเรียน    ข้อมูลที่บันทึกสามารถเรียกดูได้จากการสแกนแท็ก ด้วยเครื่องอ่านอาร์เอฟไอดีที่ทีมนักศึกษาพัฒนาขึ้นมาเองซึ่งมีราคาถูก

นอกจากนี้ยังมีโครงงานการลดการไหลของน้ำในดินเพื่อการปรับปรุงดินอย่างยั่งยืน ด้วยการนำแบคทีเรียเดกซ์ทรานซึ่งเป็นแบคทีเรียธรรมชาติมาใช้เพื่อลดอัตราการไหลของน้ำในดินทดแทนวิธีเดิมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม    การพัฒนาตะเกียบรับประทานได้ จากแป้งข้าวโพดและแป้งถั่วเหลือง เพื่อทดแทนตะเกียบไม้ไผ่ชนิดใช้แล้วทิ้ง ซึ่งช่วยลดปัญหาการกำจัดขยะที่มีมากในปัจจุบัน 


และต้นแบบขาเทียมควบคุมด้วยคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ การออกแบบขาเทียมที่ควบคุมการเคลื่อนไหวด้วยคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) เพื่อแปลงสัญญาณและจำลองรูปแบบลักษณะคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ให้ขาเทียมเคลื่อนไหวได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน   

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 26 เมษายน 2562  คณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังคงจัดงานแสดงผลงานอีกหนึ่งวันโดยเป็นรอบของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสามารถร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยในการพัฒนาต่อยอดผลงานต่าง ๆ ไปใช้ประโยชน์และออกสู่เชิงพาณิชย์ได้

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews