ข่าวเอ็นไอเอ-เอ็ตด้า ดันสตาร์ทอัพ–เอสเอ็มอี ด้วยนวัตกรรมธุรกรรมออนไลน์  - kachon.com

เอ็นไอเอ-เอ็ตด้า ดันสตาร์ทอัพ–เอสเอ็มอี ด้วยนวัตกรรมธุรกรรมออนไลน์ 
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (23 เม.ย.) ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ เอ็นไอเอ กล่าวว่า ทั่วโลกมีพฤติกรรมการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมไร้เงินสด ด้วยความสะดวกสบาย มีความรวดเร็วปลอดภัยขึ้น สำหรับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ การทำธุรกรรมที่นอกเหนือจากการรับ-จ่ายเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ฯลฯ โดยพฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นหรือกระจุกตัวเพียงแค่ในสังคมเมืองเท่านั้น แต่ยังกระจายไปสู่ระดับภูมิภาครวมถึงระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มคนไทยรุ่นใหม่ หรือ มิลเลนเนียล ที่ถือเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการใช้อีคอมเมิร์ซมากที่สุด 

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีจึงเป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งการขยายแพลตฟอร์มที่มีการเติบโตขึ้นนี้มีผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาตลาดการค้าในรูปแบบใหม่ของประเทศ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงระดับโลก จากกระแสการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของทั่วโลกที่มีการใช้ระบบออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมา 3 ประเภท คือ 1. ดิจิทัล คอมเมิร์ซ หรือแพลตฟอร์มการซื้อขายสินค้าผ่านระบบดิจิทัล ตอบสนองทั้งวิถีชีวิตคนเมือง และผู้ที่อยู่อาศัยในระดับภูมิภาคที่อยู่ห่างไกลให้สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการทุกเวลา 

2. การเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้ประโยชน์ในเชิงพื้นที่ เช่น พื้นที่ในห้างสรรพสินค้า พื้นที่ในหน่วยราชการ ที่มีการย้ายบริการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และตอบโจทย์ความต้องการของพลเมืองไปใช้พื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น เช่น การให้ข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบคิวอาร์โค้ดในร้านสะดวกซื้อ หรือหน่วยงานในภาครัฐ การขอเอกสารทางการเงินหรือที่เกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งการลดขั้นตอนที่มีความยุ่งยากซับซ้อน อาทิ AI และ BOTS ที่สามารถตอบปัญหาผู้ใช้งานทดแทนคอล เซ็นเตอร์ และ 3. การแสดงความคิดเห็นในภาคประชาสังคม หรือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ไหลเวียนเร็วขึ้น สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความเชื่ออย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนเป็นสังคมไร้เงินสด และการตรวจสอบความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐผ่านธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์


ดร.พันธุ์อาจ กล่าวว่า ล่าสุดได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมการทำธุรกรรมและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ และบุคคลทั่วไปได้รู้จักการใช้เครื่องมือและแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีความก้าวล้ำและทันสมัย เพื่อนำไปใช้ได้กับทั้งทักษะการทำงาน การยกระดับธุรกิจ และก้าวทันกระแส โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินที่กำลังเปลี่ยนแปลง พร้อมปรับตัวให้อยู่รอดทั้งปัจจุบันและในอนาคต

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการเอ็ตด้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ จะเป็นการผสานองค์ความรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ส่งเสริมแพลตฟอร์มและอีโค่ซีสเต็มด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไปสู่เป้าหมายของอี คอมเมิร์ตซ พาร์คที่จะสร้าง Workforce และเอสเอ็มอีจำนวน 1.2 ล้านราย ซึ่งภารกิจหลักคือพัฒนาส่งเสริมสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านอีคอมเมิร์ซ และเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมถึงสร้างความเชื่อมั่น ให้ความรู้ ยกระดับทักษะ ให้แก่ผู้บริโภคในการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านดิจิทัลของบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎระเบียบ มาตรฐาน และความมั่นคงปลอดภัย โดยที่เอ็นไอเอจะส่งเสริม สนับสนุนพัฒนานวัตกรรมของประเทศ และให้ทุนเพื่อสนับสนุนภาคเอกชนในการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมภายใต้โครงการต่างๆ 

“เอ็ตด้าพร้อมผลักดันให้เกิดอี คอมเมิร์ซ พาร์ค ของประเทศ ซึ่งจะเป็นแหล่งบ่มเพาะสตาร์ทอัพและแรงงานสำคัญป้อนให้กับตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในอนาคตผ่านยังทะเล้น แพลตฟอร์ม โดยตั้งเป้าสร้าง Workforce จำนวน 1,000,000 คน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 200,000 ราย ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ทำให้เข้าใกล้ภาพของอี คอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม และอีโค่ซิสเต็ม ที่ดีในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการและแหล่งเงินทุนให้มาพบกัน ทำให้ฝันอีคอมเมิร์ซไทยไปได้ไกลขึ้น"