ข่าวสดร. ยกทัพยุววิจัยดาราศาสตร์ไทยโชว์ผลงานที่ญี่ปุ่น - kachon.com

สดร. ยกทัพยุววิจัยดาราศาสตร์ไทยโชว์ผลงานที่ญี่ปุ่น
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ นำทัพยุววิจัย และครุวิจัยดาราศาสตร์ไทยโชว์ผลงานในการประชุมวิชาการดาราศาสตร์ระดับเยาวชนของสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่นต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ณ มหาวิทยาลัยโฮเซอิ (โคกาเนอิ แคมปัส) หวังแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ในโรงเรียน ยกระดับศักยภาพเยาวชนและบุคลากรทางการศึกษาด้านดาราศาสตร์ของไทย

นายมติพล  ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้าน      ดาราศาสตร์ขั้นสูงของ สดร. กล่าวว่า สดร. ได้คัดเลือกเยาวชนตัวแทนประเทศไทย ที่มีโครงงานวิจัยโดดเด่น  จำนวน 6 คน ร่วมนำเสนอโครงงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียนในการประชุมวิชาการ           ดาราศาสตร์ระดับเยาวชนของสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น  ซึ่งเป็นความร่วมมือพิเศษระหว่างสมาคมดาราศาสตร์ญี่ปุ่น (Astronomical Society of Japan : ASJ) และ สดร. เพื่อแสดงศักยภาพเด็กไทยในเวทีสากล
การเข้าร่วมนำเสนอผลงานครั้งนี้ อยู่ภายใต้โครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูง   ในความร่วมมือระหว่าง สดร. และ สสวท. ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษาและพัฒนากำลังคนด้านดาราศาสตร์ของไทย มุ่งเน้นการสร้างครุวิจัยและยุววิจัย จึงกำหนดให้ครูที่เข้าร่วมโครงการนำนักเรียนในสังกัดเข้าร่วมอบรมด้วยจำนวน 3 คน ร่วมกันสร้างสรรค์โครงงานวิจัยดาราศาสตร์ พัฒนาความคิด ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่  แล้วนำผลงานเสนอในการประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (TACs) ซึ่งเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยของเยาวชนระดับประเทศ จากนั้นจึงคัดเลือกผลงานที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การวิจัยและวิชาการ แสดงถึงศักยภาพ สะท้อนความคิดริเริ่มที่เกิดจากตัวผู้ทำโครงงาน ไปนำเสนอในงานการประชุมฯ ณ ประเทศญี่ปุ่น 

นายมติพล กล่าวว่า ผลงานที่ได้รับเลือกในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาต่อยอดจากหัวข้อในปีก่อน มีทั้งที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ การนำความรู้ดาราศาสตร์มาประยุกต์กับสิ่งใกล้ตัว ซึ่งโดดเด่นและได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานประชุมฯ จำนวนมาก เป็นที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง อาทิ การนำคาบโคจรดวงจันทร์    ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะมาแปลงเสียงเป็นดนตรี  เชื่อมโยงสองสิ่งที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันให้เกี่ยวข้องกันได้ หรือ โครงงานการสร้างเครื่องสเปกโตรกราฟ (Spectrograph) อย่างง่าย ที่มีความเป็นรูปธรรมสูง         ในขณะเดียวกัน เวทีการนำเสนอผลงานนี้ยังเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เยาวชนไทยได้สัมผัสแนวคิด กระบวนการทำงาน และความสนใจของเด็กญี่ปุ่นที่แตกต่างออกไป ช่วยพัฒนาแนวคิดสร้างแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาผลงานและตัวเองต่อไป 
สำหรับปี 2562 นี้  สดร. ได้นำทีมยุววิจัยเข้าร่วมเสนอผลงานในการประชุม ASJ ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 ประกอบด้วยนักเรียน 6 คน ครูที่ปรึกษา 5 คน ร่วมเสนอผลงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน จำนวน 6 ผลงาน ได้แก่  1.การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอายุขัยของจุดบนดวงอาทิตย์กับพื้นที่ของจุดดํา  ของ นางสาวปิยธิดา ดุลยมา โรงเรียนศรียานุสรณ์จันทบุรี   2.การศึกษาชนิดของจุดบนดวงอาทิตย์ที่มีผลต่อการลุกจ้า  ของนางสาวรัญชิดา พลวงศา โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร

 3.คาบการโคจรของบริวารดาวยูเรนัสกับเสียงดนตรี ของ นางสาวนิศาชล คําลือ โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน    4.การศึกษาหาสมบัติทางกายภาพของ WASP-19b  ของนางสาวญาดานันท์ อินถา โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคารจังหวัดน่าน   5.การหาระยะทางและอายุขัยของกระจุกดาวเปิด M50 โดยใช้ HR-Diagram  ของนางสาวอาริยา   กาวิน โรงเรียนจักรคําคณาทร จังหวัดลําพูน  และ 6.การสร้างเครื่องสเปกโตรกราฟอย่างง่าย   ของนางสาวมัณธชา ชุมรัมย์ โรงเรียนหนองบัวแดงวิทยา
 นายคมสันต์ ธุรี เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. หนึ่งในผู้ควบคุมทีม กล่าวว่า     การประชุมวิชาการดาราศาสตร์ระดับเยาวชนของสมาคมดาราศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น จัดขึ้นปีละหนึ่งครั้ง    ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 21 เพื่อให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาได้มีเวทีนำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ของตนเอง ซึ่งมีทั้งการนำเสนอในรูปแบบบรรยาย และโปสเตอร์ โครงงานเหล่านี้เกิดจากเด็กคิดตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบด้วยตัวเอง โดยมีครู คอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ของ สดร. เป็นพี่เลี้ยงทางเทคนิคและวิธีการทำวิจัย ครูและนักเรียนจะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ผ่านการปฏิบัติจริง ได้ฝึกกระบวนการคิด วิเคราะห์ ออกแบบการทดลอง ค้นหาและรวบรวมข้อมูล ตั้งสมมติฐาน แก้ปัญหา และค้นหาคำตอบอย่างเป็นระบบ บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนเรียนรู้วิธีการนำเสนอผลงานของตนให้เป็นที่ยอมรับ เป็นการพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนทักษะ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และยังเป็นประสบการณ์ที่มีค่า สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยผู้เป็นกำลังสำคัญด้านดาราศาสตร์ในอนาคตด้วย 

นอกจากการนำเสนอผลงานทางวิชาการแล้ว คณะครูและนักเรียนยังได้เยี่ยมชมสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติญี่ปุ่น หรือหอดูดาวแห่งชาติญี่ปุ่น (National Astronomical Observatory of Japan : NAOJ)       หน่วยงานศูนย์กลางวิจัยดาราศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในเขตมิทากะ กรุงโตเกียว เข้าชมท้องฟ้าจำลองระบบ 4D แสดงวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย และยังได้สัมผัสกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้สำหรับศึกษาดวงอาทิตย์อย่างใกล้ชิด 

จากนั้น คณะยุววิจัยได้เยี่ยมชมหอดูดาวกุนมะ หอดูดาวเพื่อการวิจัยและให้บริการดาราศาสตร์แก่เยาวชนและประชาชน ภายในมีนิทรรศการเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ กล้องสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ นิทรรศการการทำงานของหอดูดาว กล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5 เมตร และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 15-25 เซนติเมตร ซึ่งน้องๆ ได้ลองฝึกควบคุมและหาตำแหน่งวัตถุบนท้องฟ้าด้วยตนเอง

และเยี่ยมชมศูนย์อวกาศสึกุบะ (Tsukuba Space Center) หนึ่งในพื้นที่ภายใต้การดูแลขององค์การวิจัยและพัฒนาสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency : JAXA) ตั้งอยู่ที่เมืองสึกุบะ ในจังหวัดอิบารากิ ชมนิทรรศการแสดงความก้าวหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของญี่ปุ่น รวมทั้งการทำงานของนักวิจัยในห้องปฎิบัติการและสถานที่ฝึกอบรมนักบินอวกาศก่อนขึ้นไปปฏิบัติการจริง 

ประสบการณ์จากการนำเสนอผลงานและการเยี่ยมชมสถาบันต่างๆ ดังกล่าว ถือเป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนและพัฒนาบุคลากรด้านดาราศาสตร์ในไทยต่อไป