ข่าวติงม.44 ยืดหนี้ค่ายมือถือ ปิดโอกาสผู้ประกอบการรายใหม่ - kachon.com

ติงม.44 ยืดหนี้ค่ายมือถือ ปิดโอกาสผู้ประกอบการรายใหม่
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (19 เม.ย.) ที่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานเสวนาสาธารณะ เรื่อง “ม.44 อุ้มมือถือ:ใครได้ ใครเสีย และใครเสียท่า?”  จัดโดย ทีดีอาร์ไอ ร่วมกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาคมสหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ว่า 5จี เป็นบริการในอนาคต ซึ่งไม่ต้องรีบร้อนทำตอนนี้ ผู้บริหารบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ยังระบุว่าเอไอเอสพร้อมแต่5จี ยังไม่รีบ ที่ไม่รีบเพราะยังไม่เห็นว่ามีบริการอะไรจะออกมา จึงมีคำถามว่าที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า 5จี ออกมาแล้วจะเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจนั้นคือความฝันใช่หรือไม่ ยิ่งถ้าไปดูความพร้อมในการผลิตอุปกรณ์ 5จี คลื่น 700 เมกะเฮิร์ซ ยังไม่มีใครผลิตอุปกรณ์ 5จี ถ้าได้คลื่นไปแล้วจะทำยังไงต่อ ปัจจุบันคนที่ทำ 5จี ก่อนคือคนที่ผลิตอุปกรณ์ขาย ที่ต้องทำก่อนเพื่อขายอุปกรณ์ ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องรีบด้วยซ้ำ รออีก 2-3 ปี ไม่ช้าแน่นอน


ทั้งนี้ การใช้มาตรา 44 เป็นการใช้อำนาจที่ขาดความรับผิดชอบ เพราะถ้าอยู่ๆ รัฐยกประโยชน์ให้เอกชนยืดหนี้โดยไม่มีเหตุผลคงต้องเป็นความผิด การใช้มาตรา 44 ทำให้ไม่สามารถฟ้องเอาผิดได้ การยกอำนาจดุลยพินิจให้เลขาธิการกสทช.ยังเป็นการเสี่ยงต่อการทุจริต เพราะเป็นการให้อำนาจมหาศาลเหมือนการให้เช็คเปล่ากับกสทช. เนื่องจากดุลยพินิจที่เลขาธิการมีสามารถกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลไม่ว่าจะเป็น มูลค่าคลื่น ระยะเวลาการใช้งานคลื่นความถี่ ระยะเวลาการชำระเงินฯ และสุดท้ายที่ประชาชนควรรู้คือผู้เสียหายครั้งนี้คือประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้เสียภาษี ประชาชนจึงเป็นเจ้าหนี้ทางอ้อมของเอกชน การที่ยืดหนี้ให้เอกชนเท่ากับประชาชนเสียโอกาสในการได้ 5จี ในตลาดที่จะมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาสู่ตลาด ทำให้การกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมของไทยย้อนกลับไปเหมือนสมัยที่อยู่ในระบบสัมปทาน ประเทศไทยเปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบใบอนุญาต ทำให้ย้อนกลับไปสู่ระบบเดิมและทำให้ประเทศไทยห่างไกลไปจากประเทศพัฒนาแล้วเพราะรัฐไทยยังมีปัญหาธรรมาภิบาลที่บกพร่องอย่างร้ายแรง ดังนั้นจึงขอให้ท่านออกมาตรา 44 เพื่อมาแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดนี้
 

ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การให้คลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ กับเอกชนทั้ง 3 รายๆ ละ 15 เมกะเฮิร์ตซ ในจำนวนเงิน 25,000-27,000 ล้านบาทนั้น เป็นความเสียหายของประเทศ ทำให้ระบบการประมูลไม่มี ไม่มีเอกชนรายใหม่เข้ามาได้ และเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ ซึ่งรัฐบาลเก่าไม่ควรทำเรื่องเสียหายกับรัฐขนาดนี้ ในขณะที่มีการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ทำให้การออกความเห็นของประชาชนไม่มี ไม่มีการถ่วงดุลภาครัฐ เป็นการเลือกปฏิบัติเพื่อธุรกิจกับกิจการที่มีกำไรอยู่แล้ว เห็นว่าการช่วยทีวีดิจิตอลก็ช่วยวิธีอื่นได้ โดยไม่ต้องผูกกับเรื่องโทรคมนาคม รัฐบาลต้องออกมาแก้ปัญหากับสิ่งที่พลาดนี้       


ด้านนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวว่า การที่มาตรา 44 ประกาศออกมาให้ยืดการจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ โดยไม่มีดอกเบี้ยนั้น หากเทียบกับประชาชนทั่วไปแล้วถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะประชาชนถูกคิดดอกเบี้ย ทำไมรัฐต้องพึ่งและช่วยเพียงแค่เอกชนทั้ง 3 ราย ที่ผ่านมาเคยมีรัฐมนตรีต้องติดคุกเรื่องการแก้ไขสัญญาต่างๆมาแล้ว แต่การแก้ปัญหานี้เป็นการเลี่ยงปัญหาคอร์รัปชั่น เป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของการทำสัญญาโทรคมนาคม และกติกาทางนิติรัฐต่างๆ สิ่งนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในสังคม ส่วนราคาที่กำหนดไม่รู้ว่าคิดราคาเทียบจากอะไร และน่าจะต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น