ข่าวกสทช.แจงพ.ร.บ.ฉบับใหม่เอื้อประชาชน-ประเทศชาติ - kachon.com

กสทช.แจงพ.ร.บ.ฉบับใหม่เอื้อประชาชน-ประเทศชาติ
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (19 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวชี้แจงถึง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562 ที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 16 เม.ย.2562 ว่า ในการปรับปรุงพ.ร.บ.กสทช.ฉบับดังกล่าว ถือเป็นการปรับปรุงฉบับที่ 3 ห่างจากฉบับที่ 2 เป็นเวลา 2 ปี โดยมีสาเหตุจากรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานกสทช.พิจารณาเห็นว่ามาตราที่มีผลกระทบกับกสทช.คือมาตรา 60 ที่กำหนดให้รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน รัฐต้องจัดให้มีองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งจะต้องกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำให้ผู้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งในภาพรวมคือการให้อำนาจกสทช.ในการดูแลสิทธิในการดำเนินการเกี่ยวกับดาวเทียมครอบคลุมการให้สิทธิในการดำเนินกิจการดาวเทียม มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลการรักษาสิทธิในวงโคจรดาวเทียม มีหน้าที่ในการจัดทำแผนแม่บทเพื่อการดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการดาวเทียม เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญจึงต้องเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กับกสทช.ในการเป็นผู้รักษาสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม


ทั้งนี้ จึงแก้ไขพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฉบับที่ 2 มาตรา 27(1) ให้กสทช.เป็นผู้จัดทำแผนบริหารสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม ออกหลักเกณฑ์วิธีอนุญาตในการใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียม และมีอำนาจในการออกหลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตในการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันกิจการดาวเทียมยังอยู่ในช่วงเวลาสัมปทานของเอกชน กสทช.จึงเขียนไว้ในแผนบริหารสิทธิในการใช้วงโครจรดาวเทียมกำหนดให้ผู้ที่ได้รับสัมปทานอยู่ใช้ดาวเทียมต่อไปจนกว่าจะครบอายุสัมปทานในปี 2564

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ได้กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นสมบัติของชาติที่ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน โดยรัฐต้องกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะ (ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เท่านั้น) เดิมพ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดสัดส่วนขั้นต่ำในการใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ จึงแก้ไขมาตรา 49(2) โดยกำหนดให้การใช้คลื่นความถี่จะต้องกำหนดให้มีการใช้งานคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของประชาชนไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของการอนุญาตแต่ละครั้ง

อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ใหม่ยังได้กำหนดให้มีการกำหนดเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยได้กำหนดโทษความผิดทางอาญากับผู้ที่โทรศัพท์แจ้งเหตุที่ไม่เป็นความจริงหรือไม่มีเหตุฉุกเฉิน และยังมีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อรองรับการหลอมรวมเทคโนโลยี ให้กสทช.ออกประกาศให้ใช้คลื่นความถี่เปิดกว้างการใช้งานตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ โดย กสทช.สามารถออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แบบหลอมรวมได้ โดยจะทำได้ต่อเมื่อกสทช.มีความพร้อม โดยต้องขอให้ออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้มีการใช้คลื่นความถี่ ทั้งนี้การออกใบอนุญาตเป็นสิทธิเฉพาะตัวจะโอนแก่กันมิได้เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากกสทช.

อีกทั้ง รัฐธรรมนูญกำหนดให้อำนาจในการถอดถอนกรรมการกสทช.เปลี่ยนจากวุฒิสภา ไปเป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจในการถอดถอนกรรมการกสทช. จึงยกเลิกมาตรา 20(6) แล้วเขียนให้การถอดถอนจะต้องส่งเรื่องไปยังป.ป.ช.หรือมีผู้ร้องไปยังอัยการสูงสุดแล้วส่งเรื่องต่อไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ทั้งนี้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่จะทำให้การใช้งานคลื่นความถี่และวงโคจรดาวเทียมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนโดยแท้จริง เปิดกว้างให้มีทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากกิจการดาวเทียม ลดการผูกขาด, มีการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะที่มีสัดส่วนชัดเจน, การกำหนดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินที่สามารถใช้แจ้งเหตุฉุกเฉินได้โดยไม่เสียค่าบริการ (ผู้ให้บริการจะไม่เรียกเก็บค่าบริการ) และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อรองรับการหลอมรวมเทคโนโลยีได้