ข่าวคาดผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลคืนใบอนุญาต7-8ช่อง - kachon.com

คาดผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลคืนใบอนุญาต7-8ช่อง
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (17 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวภายหลังเชิญผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิตอลมาชี้แจงถึงมาตรา44 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกประกาศมาช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมให้สามารถขยายระยะเวลาการชำระค่าประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ โดยผู้รับเงื่อนไขจะต้องเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ ในเดือนมิ.ย.2562 ส่วนทีวีดิจิตอลนั้น สามารถคืนใบอนุญาตได้ จึงขอให้ผู้ประกอบการที่ต้องการรับสิทธิ์ช่วยเหลือทำหนังสือส่งมายังสำนักงานกสทช.ภายในวันที่ 10 พ.ค.2562

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ยังค้างชำระค่าประมูลงวดที่ 4  อีกที่เหลือ 50% (งวดที่ 4.5) จำนวน 17 ช่อง รวมเป็นเงิน 3,215 ล้านบาท จะต้องชำระภายในวันที่ 8 ส.ค.2562 หากยังไม่จ่ายภายในวันดังกล่าว ให้จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ซึ่งจะนำเงินได้ดังกล่าวมาจ่ายให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 7 เวิร์คพอยท์ และสปริงนิวส์ ที่ได้จ่ายค่าใบอนุญาตฯ งวดที่ 5 มาแล้วรวม 986.60 ล้านบาท จากนั้นจะเหลือเงิน 2,228.60 ล้านบาท เพื่อนำส่งเข้ารัฐต่อไป ทั้งนี้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะได้รับยกเว้นค่าใบอนุญาตฯ งวดที่5 และงวดที่ 6 รวมเป็นเงิน 13,622.40 ล้านบาท โดยจะนำเงินจากการประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ มาจ่ายชดเชย และกสทช.จะจ่ายชดเชยโดยตรงให้กับผู้ให้บริการโครงข่าย (MUX) 100% เป็นระยะเวลา 9 ปี 6 เดือน รวมเป็นเงิน 18,775.80 ล้านบาท              

สำหรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์จัดสรรคลื่น 700 เมกะเอิร์ตซ และเงื่อนไขการได้รับเงินเยียวยาทีวีดิจิตอล คาดว่าจะสามารถเสร็จภายในสิ้นเดือนพ.ค.2562 หากผู้ประกอบการโทรคมนาคมและทีวีดิจิตอลไม่พอใจเงื่อนไขก็สามารถยกเลิกหนังสือขอรับสิทธิ์ได้ ทั้งนี้ หากค่ายใดค่ายหนึ่งไม่รับเงื่อนไขรับคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ จะไม่สามารถรับสิทธิ์ขยายค่าคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ ได้ และคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ ที่เหลือก็จะนำมาจัดประมูลในแบบเดิม ซึ่งการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้เป็นไปตาม ม. 44 ทำให้กสทช.สามารถทำได้ทันในเดือน มิ.ย.2562 เพราะไม่ต้องเปิดประมูลราคาแบบเดิม

“การออกใบอนุญาตคลื่น 700 เฮิร์ตซ ครั้งนี้ จะไม่เหมือนการประมูลคลื่นครั้งที่ผ่านมา แต่เป็นการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นไม่น่าจะต่ำกว่า 25,000 -27,000 ล้านบาท ต่อใบอนุญาต จำนวน 15 เมกะเฮิร์ตซ (รวม 3 ค่าย เป็นเงิน 75,000 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งโอเปอเรเตอร์ยังไม่ต้องชำระเงินในเดือนมิ.ย.2562 ให้ชำระค่าคลื่น 700 เมกะเอิร์ตซ วันที่ 1 ต.ค.2563 จากนั้นจะนำเงินที่ได้ไปเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ”  


ด้านนายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร รองกรรมการผู้อำนวยการ อาวุโส ส่วนงานปฏิบัติการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสต้องส่งจดหมายยื่นความจำนงขอใช้สิทธิ์ไปก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาเงื่อนไขอีกครั้ง การจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ประมูลขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการ ซึ่งการกำหนดวันประมูลในเดือนมิ.ย.2562 ยอมรับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นต่อการเตรียมตัว และเงื่อนไขของความจำเป็นในการใช้คลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ ไม่เหมือนตอนประมูล 900 เมกะเฮิร์ตซ ที่เอไอเอสจำเป็นต้องได้มาเพราะมีลูกค้าอยู่ในระบบ แต่คลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ เป็นการนำมาทำ 5จี สำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งหากภาคอุตสาหกรรมยังไม่ตื่นตัว บริการที่จะได้ใช้คาดว่าจะมาภายใน 2 ปี ไม่ใช่ปีหน้า การรีบจ่ายค่าประมูลก่อน เท่ากับเป็นการจ่ายเปล่า และต้องดูราคาเริ่มต้นด้วยว่าสูงหรือไม่

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทครับทราบการขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าราคาคลื่นความถี่ของประเทศไทยสูงเกินไป ดีแทคจะหารือกับทางกสทช. เพื่อความชัดเจนเพิ่มขึ้นจากคำสั่งฯ ในเรื่องมาตรการดังกล่าว ก่อนที่จะพิจารณาตัดสินใจดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ดีแทค ยังยืนยันตามได้เคยแจ้งไว้ กล่าวคือ ดีแทคสนับสนุน กสทช.ในการจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ที่ชัดเจน รวมถึงการกำหนดช่วงเวลาที่จะนำคลื่นมาจัดสรรล่วงหน้า และการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ทั้งหมดที่จะถูกนำมาจัดสรรอย่างเหมาะสม ก่อนที่จะดำเนินการประมูลครั้งต่อไป ดีแทคจะยื่นรักษาสิทธิ์ก่อน หากเงื่อนไขการประมูลไม่เป็นไปตามที่ต้องการดีแทคก็สามารถยกเลิกหนังสือแจ้งความจำนงค์ได้


นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า การประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ ครั้งที่ผ่านมายังเป็นภาระที่เกิดขึ้น บริษัทยังไม่คุ้มทุน และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไม่โตเท่าที่ควร มูลค่าของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมลดลงกว่า 4 แสนล้านบาท เรื่องม.44 นี้ เป็นเรื่องใหม่ และเราก็กังวล ดังนั้นการตัดสินใจจึงต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานชมรมผู้ประกอบการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล กล่าวว่า อาจมีผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 7-8 รายคืนใบอนุญาตโดยเฉพาะผู้รที่ถือใบอนุญาตมากเกินไป และเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ซึ่งต้องพิจารณาตัดส่วนธุรกิจที่ไม่ได้ทำกำไรหรือไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทิ้ง ซึ่งเบื้องต้นประเมินช่องทีวีดิจิตอลที่จะคืนใบอนุญาตนั้น เป็นช่องรายการเด็กเพราะไม่มีรายได้ ช่องข่าวหรือกลุ่มหนังสือพิมพ์เก่าที่ถือใบอนุญาต 2-3 และช่องทีวีทั่วไปแบบความคมชัดปกติ(เอสดี) บางช่อง รวม 7-8 ช่อง

“วันที่ 23 เม.ย.นี้ อสมท จะประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) และวันที่ 25 เม.ย.นี้ มีกำหนดการประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งบริษัทจะนำผลการศึกษาแนวทางการบริหารใบอนุญาต 2 ใบ และ 1 โครงข่ายนำเสนอบอร์ดพิจารณาต่อไป โดยจะพิจารณาปัจจัยด้านต้นทุนการเงิน 2 ช่อง บวกกับค่าคอนเทนต์อีก 9-10 ปีในกรณีที่ไม่คืนใบอนุญาต แต่หากบอร์ดมีมติคืนใบอนุญาตจะนำผลการศึกษาต้นทุนเสนอให้บอร์ดพิจารณาว่าจะลดลงเท่าไหร่ ขณะเดียวกันทางชมรมโครงข่ายทีวีดิจิตอลจะนัดประชุมประเมินมาตรการของกสทช. เพื่อกำหนดท่าทีอีกครั้งเร็วๆ นี้”

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีม.44 อสมท มีแผนปรับปรุงช่องรายการเด็กอยู่แล้ว ซึ่งล่าสุดได้หุ้นส่วนรายใหม่เข้ามาร่วมธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ยังบอกไม่ได้ว่า อสมท จะคืนช่องรายการเด็กหรือไม่ เพราะเราเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลท. ทำให้มีผลต่อราคาหุ้น แต่อยากเสนอ กสทช.ว่าการจะประกาศมาตรการต่างๆ ออกไปควรต้องมีการหารือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ด้วย เนื่องจากมีผลกระทบต่อแผนการลงทุนในกลุ่มโทรคมนาคม และการชำระหนี้