ข่าวกสทช.ส่อถอดใจเก็บค่าOTT ย้ำค่ายมือถือดูแลสัญญาณช่วงสงกรานต์ - kachon.com

กสทช.ส่อถอดใจเก็บค่าOTT ย้ำค่ายมือถือดูแลสัญญาณช่วงสงกรานต์
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (9 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์วันที่ 12-16 เม.ย. 2562 เป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่มีสถิติการใช้โทรศัพท์กันมาก ประชาชนนิยมติดต่อสื่อสารและส่งข้อความอวยพรกันผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ทุกคนในครอบครัวมารวมกัน สำนักงานกสทช. เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการในการติดต่อสื่อสารผ่านบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเพื่อป้องกันมิให้คุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงเวลาดังกล่าวลดลง

ทั้งนี้ กสทช. จึงขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายให้เพิ่มขีดความสามารถและความระมัดระวังในการดูแลบำรุงรักษา ซ่อมแซม และแก้ไขปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคม เครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ ที่นำมาใช้ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดระยะเวลาช่วงเทศกาลสงกรานต์


สำหรับแนวคิดในการจัดเก็บรายได้จากปริมาณข้อมูลที่นำเข้าจากต่างประเทศ ตนได้ชี้แจงผ่านทวีตเตอร์ไปแล้วว่าสิ่งที่กสทช.พูดถึงคือการจัดเก็บรายได้จากกิจการโอทีที (over the top :OTT) โดยทำผ่านผู้ให้บริการ ไม่ได้พูดถึงประชาชน เมื่อมีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณการนำเข้าข้อมูลนำเข้าข้อมูลจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 40 เท่า ถ้ามีเทคโนโลยี 5G จึงได้เสนอแนวคิดนี้ เนื่องจากที่ผ่านมากสทช.พยายามลงทะเบียนผู้ให้บริการโอทีที แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะมีเพียงโอทีทีในไทยที่ลงทะเบียน จึงเสนอแนวคิดนี้

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำหลักเกณฑ์ ซึ่งในขั้นตอนทำร่างประกาศหลักเกณฑ์จะเชิญผู้ประกอบการมาร่วมแสดงความคิดเห็น หากประชาชนไม่เห็นด้วยกสทช.ก็ไม่ทำ ยืนยันว่าไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งจุดยืนของกสทช.คือประเทศไทยไม่ได้เห็นด้วยกับการลงทะเบียนเพราะทำไม่สำเร็จ จึงเสนอแนวคิดใหม่ให้ที่ประชุมอาเซียน ด้วยการเก็บรายได้จากปริมาณข้อมูล และปีนี้ประเทศไทยจะเป็นประธานประชุมกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียนในเดือนส.ค.2562 จึงต้องการมีความชัดเจนเรื่องนี้ เพราะแต่ละประเทศมีความเห็นแตกต่างกัน อย่างสิงคโปร์ไม่เดือดร้อนเพราะสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคของผู้ให้บริการโซเชียลอยู่ที่สิงคโปร์ย่อมมีรายได้อยู่แล้ว ส่วนอินโดนีเซียอาจจะเห็นว่าควรทำเลยเพราะการช้าออกไปเท่ากับรายได้ที่ไหลออกนอกประเทศ

“ทางออกเรื่องนี้ คือ ถ้าเห็นควรทำก็ดำเนินการ ถ้าไม่เห็นควรทำก็ไม่ทำ หรือนิ่งเฉยไม่ต้องสนใจอะไร เรื่องนี้เรามีเวลาถึงปี 2563 ที่คาดว่าจะมีการใช้ 5G ทั่วโลก เราพยายามพูดว่าไม่เกี่ยวกับประชาชนแต่พูดถึงเกตเวย์ที่นำข้อมูลเข้ามา แต่ข่าวออกไปว่าจะไปลดความเร็วในการใช้งาน ซึ่งไม่ได้เป็นอย่างนั้น”