สมาคมโทรคมนาคมฯ เร่งจัดระเบียบสายสื่อสารลงดิน
ไอที
ล่าสุด ลงนามความร่วมมือในการสร้างความตระหนักในด้านการจัดระเบียบสายสื่อสาร เพื่อแก้ไขปัญหาสายสื่อสารด้วยวิธีการต่างๆ ตลอดจนร่วมกันศึกษาสภาพปัญหา ผลกระทบ เพื่อหาข้อสรุป รูปแบบ แนวทาง แผนการดำเนินงาน วิธีการที่ชัดเจน และมีมาตรฐานที่เหมาะสมเกี่ยวกับการจัดระเบียบสายที่สามารถใช้ได้ทุกพื้นที่ โดยคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน อาทิ ด้านกฎระเบียบ มาตรฐาน แนวปฏิบัติที่เป็นสากลในต่างประเทศ เทคโนโลยี ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และภาระการใช้งานของประชาชนในอนาคต
ดร.มนต์ชัย หนูสง นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า คณะทำงานจะใช้เวลา 4 เดือนหรือสิ้นไตรมาส 3/62 หาข้อสรุปถึงโมเดลนำสายสื่อสารลงดินที่ดีที่สุดเพื่อเสนอภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องวิเคราะห์ดูความหนาแน่นของพื้นที่ว่าแต่ละพื้นที่ควรลงดิน หรือ บางพื้นที่ไม่หนาแน่นก็สามารถให้พาดบนสายไฟฟ้าเหมือนเดิมได้ โดยอาจจะร้อยใส่ท่อลอยฟ้า ซึ่งสมาคมฯได้หารือร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงบ้างแล้ว ที่สำคัญคือเรื่องราคาที่ผู้ให้บริการต้องรับภาระ ลำพังแค่ในพื้นที่กทม.ต้องใช้เงินลงทุนหลักพันล้านบาท ต่อบริษัท เพราะการจะนำสายลงท่อนั้นจำเป็นต้องสร้างสายลงท่อให้เสร็จก่อนที่จะรื้อสายบนฟ้าออก จากเดิมที่มีต้นทุนในการพาดสายบนเสาไฟฟ้าเพียงหลักร้อยบาทต่อปี จะเพิ่มเป็นรายละ 3,000 บาท (1 ท่อ สามารถแบ่งกันได้ 3 ราย ) รวมถึงการเสนอโมเดลของเทคโนโลยีท่อที่สามารถทำให้แต่ละผู้บริการใช้ท่อร่วมกันได้ ที่สำคัญคือเรื่องของราคาที่สมาคมฯ ต้องการให้ภาครัฐมองเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมมีความสำคัญเหมือนสาธารณูปโภค น้ำ ไฟ ที่ภาครัฐควรลงทุนการสร้างท่อให้ผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการพร้อมจ่ายค่าเช่าให้กับภาครัฐ
“ผู้ประกอบการโทรคมนาคมตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาสายสื่อสารอย่างเต็มที่ มีการจัดระเบียบสายสื่อสารไปแล้วประมาณ700 กิโลเมตร และนำสายสื่อสารลงดินระยะทางประมาณ160 กิโลเมตร ตามโครงการต่างๆ เช่น โครงการพหลโยธิน โครงการพญาไท โครงการสุขุมวิท โครงการจิตรลดา ปทุมวัน และพญาไท โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 ตามจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ลพบุรี น่าน หนองคาย ภูเก็ต หาดใหญ่ นครพนม แต่ด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วมากจนแก้ไขปัญหาไม่ทันต่อสถานการณ์ อีกทั้งการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา เป็นการเร่งรีบดำเนินการ โดยไม่มีการวางรูปแบบ แนวทาง และแผนการดำเนินงานที่ดี และไม่มีมาตรฐานที่เหมาะสม จึงยังเกิดผลกระทบต่อประชาชนและสังคม ”