ข่าวสวทช.พัฒนาระบบสัญญาณชีพทางไกลสำหรับผู้ป่วยในรถพยาบาล - kachon.com

สวทช.พัฒนาระบบสัญญาณชีพทางไกลสำหรับผู้ป่วยในรถพยาบาล
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
นายวัชรากร   หนูทอง  ทีมวิจัยนวัตกรรมและข้อมูลสุขภาพ  ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)  เปิดเผยว่า  ปัจจุบันการช่วยเหลือในผู้ป่วยในรถพยาบาล ข้อมูลของผู้ป่วยจะถูกส่งไปปรึกษากับแพทย์ฉุกเฉินอำนวยการในรูปแบบการโทรศัพท์ และการส่งภาพถ่าย   ซึ่งข้อมูลที่ได้ไม่เพียงพอสำหรับการสั่งการรักษาได้อย่างเต็มที่ภายในรถพยาบาล    ดังนั้นการดูแลรักษาที่แท้จริงจะเริ่มต้นเมื่อผู้ป่วยมาถึงห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งอาจไม่ทันการ

ทีมวิจัย A-MED  นำโดย“ ดร.กิตติ   วงศ์ถาวรารัตน์ ”  จึงร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.)  พัฒนาต้นแบบ“ระบบสัญญาณชีพทางไกลสำหรับผู้ป่วยในรถพยาบาล” ขึ้นเมื่อเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา  เพื่อช่วยเหลือดูแลรักษาผู้ป่วยตั้งแต่จุดเกิดเหตุไปจนถึงโรงพยาบาล   เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของคนไข้  นอกจากนี้ยังร่วมกันผลักดันมาตรฐานกลางของข้อมูล สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์วัดสัญญาณชีพภายในรถพยาบาล  ที่รองรับอุปกรณ์จากผู้ผลิตที่มีความหลากหลาย
 
  

นายวัชรากร  กล่าวว่า  เป็นครั้งแรกที่พยายามจะเชิญผู้ประกอบการด้านอุปกรณ์การแพทย์มาทำมาตรฐาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงกัน  แพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้น จะเปรียบเสมือนพอร์ทัลกลาง อุปกรณ์ที่มาเชื่อมต่อจะเป็นยี่ห้ออะไรก็ได้ ไม่ต้องติดตั้งซอฟต์แวร์ แค่เปิดบราวเซอร์ก็สามารถทำงานได้เลย และส่งผ่านข้อมูลไปแสดงผลที่ใดก็ได้ 
      
ทั้งนี้ระบบที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย   Emergency  Gateway  ซึ่งติดตั้งที่รถพยาบาลสามารถที่เชื่อมต่อรับข้อมูลสัญญานชีพได้หลากหลายผู้ผลิต และหลากหลายรูปแบบ เช่น เครื่อง Electrocardiography  (ECG) เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดออกซิเจน  เครื่องวัดอุณหภูมิ  และอื่น ๆ มีระบบที่เชื่อมต่อกับระบบอ่านลายนิ้วมือของ สพฉ.  ในการตรวจสอบและดึงข้อมูลตัวตนของผู้ป่วยในที่เกิดเหตุได้  แค่สแกนลายนิ้วมือผู้ป่วย ไม่ต้องสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องในกรณีหมดสติหรือค้นบัตรให้เสียเวลา  สามารถดึงประวัติจากกรมการปกครองที่มีการลงนามความร่วมมือกันอยู่ รวมถึงข้อมูลการแพ้ยาต่าง ๆ   เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง   

นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบบริหารจัดการกลางบนคลาวด์  ซึ่งข้อมูลผู้ป่วยและสัญญานชีพทั้งหมดจากเครื่องมือต่าง ๆ   จะมีการส่งผ่านอัตโนมัติไปจัดเก็บที่คลาวด์ เซิร์ฟเวอร์   เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เรียลไทม์   ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง    ทีมวิจัยจึงมีการพัฒนา  3G/4G Multiple  Link  Aggregation    หรือระบบส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3จี 4จี แบบหลายซิมขึ้น    เพราะบางพื้นที่สัญญาณมือถือไม่เสถียรในบางผู้ให้บริการ  การส่งข้อมูลแบบหลายซิมพร้อมกันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและความเสถียรของการส่งข้อมูลในขณะที่เดินทางของรถพยาบาล

นักวิจัยกล่าวว่า  ต้นแบบระบบที่พัฒนาขึ้นนี้ นอกเหนือจากข้อมูลเสียง  วิดีโอ  รวมถึงข้อมูลสัญญาชีพของผู้ป่วย  จะถูกส่งไปเก็บที่ฐานข้อมูลของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ หรือบนระบบคลาวด์ ซึ่งแพทย์ฉุกเฉินอำนวยการ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคน  สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยที่เป็นปัจจุบันหรือเรียลไทม์ได้แล้ว      แพทย์ฉุกเฉินอำนวยการยังสามารถที่จะสั่งการการรักษาแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยได้ตั้งแต่ภายในรถพยาบาล   ซึ่งเป็นการลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลง

ปัจจุบันมีการทดสอบภาคสนาม  ที่ศูนย์แจ้งเหตุ และสั่งการ อบจ. อุบลราชธานี   ซึ่งมีรายงานว่าเมื่อใช้ระบบดังกล่าว สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากเคยมีประมาณ  4 %  เหลือเพียงประมาณ  2  %   และอนาคตจะมีการนำร่องใช้งานในจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่นที่ สงขลา พัทลุง ลำพูน สระแก้ว และมหาสารคาม