ข่าวทรู จ่ายค่าคลื่น 900 งวด 3 กว่า 4,301 ล้านบาท - kachon.com

ทรู จ่ายค่าคลื่น 900 งวด 3 กว่า 4,301 ล้านบาท
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (1 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กวทช. เปิดเผยว่า บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC บริษัทในเครือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซ ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 3 จำนวน 4,301.40 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือวงเงิน 64,433.26 ล้านบาท มามอบให้แก่สำนักงาน กสทช.ตามเงื่อนไขของการชำระเงินประมูล โดยเงินค่าประมูลดังกล่าว สำนักงาน กสทช.จะรีบนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

สำหรับการชำระเงินประมูลงวดสุดท้าย (งวดที่ 4) จะต้องชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ส่วนที่เหลือทั้งหมดจำนวน 60,218 ล้านบาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม 4,215.26 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 64,433.26 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 มี.ค.2563 ก่อนหน้านี้ TUC ได้มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ ไปแล้วจำนวน 12,904.20 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าประมูลงวดที่ 1 จำนวน 8,602.80 ล้านบาท เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2559 และค่าประมูลงวดที่ 2 จำนวน 4,301.40 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2561 ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช.ได้นำส่งเงินดังกล่าวให้กระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินเรียบร้อยแล้ว

"อีกราว 3 เดือน คือช่วง ก.ค.2562 บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส  จะต้องนำเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ งวดที่ 3 จำนวน 4,301.40 ล้านบาท พร้อมกับหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือวงเงิน 63,744.18 ล้านบาท มามอบให้แก่สำนักงาน กสทช.     
ส่วนความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม ในการขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ งวดที่ 4 ออกไปนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา หลังจาก กสทช.ได้ให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจไปอย่างเต็มที่แล้ว
                
นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร ทรู กล่าวว่า บริษัทยังคงเดินหน้าทดลองทดสอบ 5จี อย่างต่อเนื่อง เพราะ 5จี จะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ขอให้ ภาครัฐ และ กสทช.ต้องช่วยพิจารณาในเรื่องของต้นทุนค่าคลื่นความถี่ถูกลง โดยหากประเทศไทยต้องการผลักดันให้เกิด 5จี จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงต้นทุนค่าคลื่นความถี่ หากต้นทุนคลื่นความถี่สูงก็จะทำให้เกิด 5จีได้ยาก