เอ็มเทคนำร่องอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้า
ไอที
ดร.อารี ธนบุญสมบัติ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ในปัจจุบันมีผู้พิการทางด้านการเคลื่อนไหวทางร่างกายที่กำลังใช้รถเข็นในปริมาณมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรถเข็นส่วนใหญ่ที่มีการใช้งานอยู่เป็นรถเข็นแบบทั่วไปไม่มีระบบไฟฟ้า เนื่องจากรถเข็นแบบมีระบบไฟฟ้าจะมีราคาค่อนข้างสูง ทางทีมวิจัยชีวกลศาสตร์ กลุ่มวิจัยวัสดุและอุปกรณ์เฉพาะทางชีวภาพของเอ็มเทค เห็นว่ามีโอกาสที่จะปรับรถเข็นทั่วไปให้เป็นแบบมีระบบไฟฟ้าและมีราคาที่เหมาะสมได้ จึงได้พัฒนาต้นแบบรถเข็นไฟฟ้าจากรถเข็นทั่วไป ในราคาประมาณ 7,000 บาทต่อคัน และได้นำไปจัดแสดงในงานนิทรรศการต่างๆ ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้สนและผู้ใช้จำนวนหนึ่งเห็นถึงประโยชน์ของต้นแบบรถเข็นไฟฟ้า
จากนั้นทางทีมวิจัยฯ ต้องการที่จะต่อยอดผลิตรถเข็นไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้พิการและผู้สูงอายุได้ใช้รถเข็นไฟฟ้า จึงได้นำแนวคิดร่วมหารือกับวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี และได้รับความร่วมมือในการประกอบและติดตั้งอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้าจำนวน 10 ชุด มอบให้อาสาสมัครผู้พิการและผู้สูงอายุ จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในโครงการการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ ด้วยวิธีการประกอบและติดตั้งอุปกรณ์พ่วงต่อปรับรถเข็นทั่วไปเป็นรถเข็นไฟฟ้าในครั้งนี้
โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดวิธีการประกอบและติดตั้งอุปกรณ์พ่วงต่อเพื่อปรับเปลี่ยนรถเข็นทั่วไปให้เป็นรถเข็นไฟฟ้าให้กับอาชีวศึกษา เพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้รถเข็นทั่วไปไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือเป็นผู้พิการที่มีร่างกายท่อนบนที่ดี ให้มีความอิสระและดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานได้ดีมากขึ้น โดยได้รับการปรับแต่งรถเข็นทั่วไปให้เป็นรถเข็นไฟฟ้าจากการให้บริการจากอาชีวศึกษา สร้างการเรียนรู้การออกแบบและผลิตงานทางด้านอุปกรณ์การแพทย์ให้ภาคการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาในอนาคต สร้างโอกาสการต่อยอดรถเข็นไฟฟ้าในรูปแบบอื่นและแชร์องค์ความรู้ดังกล่าวผ่านเครือข่าย ส่งผลประโยชน์กับผู้ใช้รถเข็นและจุดประกายของการสร้างนวัตกรรมของเยาวชนให้เป็นนวัตกรรุ่นใหม่ได้ต่อไป
ด้านนายนิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี กล่าว โครงการนี้ ถือเป็นความร่วมมือกันในการการพัฒนาขีดความสามารถ ด้านเทคโนโลยีหลัก ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ นั่นคือ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย New S curve และยังเป็นไปตามที่รัฐบาลได้วางแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อสร้าง “เครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่” (New Engines of Growth) โดยนํา “วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์” มาเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สําคัญ ในการยกระดับภาคเศรษฐกิจเดิมที่เรามีพื้นฐานดีอยู่แล้วให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันในการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิชาการ และการวิจัยนวัตกรรม เทคโนโลยีทางด้านอุกปกรณ์การแพทย์สำหรับคนพิการการเคลื่อนไหว เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือสังคมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีกด้วย