ข่าวกสทช.-สาธารณสุข ลุยโครงการเทเลเฮลท์ ต่อยอดเน็ตชายขอบ  - kachon.com

กสทช.-สาธารณสุข ลุยโครงการเทเลเฮลท์ ต่อยอดเน็ตชายขอบ 
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (20 มี.ค.) ที่สโมสรทหารบก นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงานกสทช. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การกำหนดแนวทางการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งานบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท หรือ เทเลเฮลท์ (Telehealth) เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชนในพื้นที่ชนบทผ่านโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) และพื้นที่ชายขอบ (Zone C+)



โดยโครงการเทเลเฮลท์ เป็นการนำระบบโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ในระบบดูแลสุขภาพทางไกลในพื้นที่ชนบท ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงโดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ เหมือนผู้ป่วยได้เดินทางไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ด้วยตัวเอง ทำให้ได้รับคำปรึกษาได้อย่างทันเวลา และยังช่วยลดความแออัดของจำนวนคนไข้ ลดภาระของแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเมือง เป็นการยกระดับการรักษาพยาบาลให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น



ทั้งนี้ ในระยะเริ่มต้นมี 8 จังหวัดนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เพชรบูรณ์กำแพงเพชร กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ สุรินทร์ สุราษฎร์ธานี และสงขลา ครอบคลุมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 15 แห่ง คลินิกหมอครอบครัว (รพ.สต ขนาดใหญ่) จำนวน 4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จำนวน 5 แห่ง และ โรงพยาบาลประจำจังหวัด จำนวน 8 แห่ง รวมถึงศูนย์เฉพาะทางโรคตา ศูนย์เฉพาะทางโรคผิวหนัง และในอนาคตจะขยายไปสู่พื้นที่ชนบทอื่นทั่วประเทศ

ซึ่งจะนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารผนวกเข้ากับเทคโนโลยีดิจิตอลและนวัตกรรมทางการแพทย์เป็นระบบโทรคมนาคมเฉพาะทางเพื่อรองรับระบบดูแลสุขภาพทางไกล เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการคัดกรองโรค ระบบให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางไกล เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการทางการแพทย์โดยไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล และเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยโครงการจะดำเนินการใน 2 มิติ คือ มิติแรก โรคที่เป็นปัญหาสำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชน ได้แก่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) ซึ่งเป็นสาเหตุถึงร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตของคนไทย เช่น โรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง และมิติที่สอง โรคที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง ได้แก่ โรคทางจอตา เป็นผลสืบเนื่องมาจากโรคเบาหวาน และโรคผิวหนัง

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าเฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต่อจำนวนประชากร 439 คน แต่ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยแพทย์ 1 คน ต่อจำนวนประชากร 2,065 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4.7 เท่า ส่วนแพทย์เฉพาะทาง จากผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีอัตราส่วนจักษุแพทย์ 1 คนต่อประชากร 47,900 คน และจำนวนแพทย์ผิวหนังในประเทศไทยไม่รวมพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร มีแพทย์ประมาณ 100 คนเท่านั้น ทำให้การเข้าถึงบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกลยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์