เทคโนโลยีเอไอกับการพลิกโฉมการทำไร่อ้อย
ไอที
การปรับตัวของภาคการเกษตรจึงเกิดขึ้น และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์เพื่อรับมือกับธรรมชาติ เกิดเป็น "สมาร์ทฟาร์มเมอร์" ซึ่งไม่ได้หยุดแค่การใช้เทคโนโลยีอย่างไอโอทีหรืออินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ ที่ทำงานอัตโนมัติ หรือใช้โดรนเพื่อทดแทนแรงงานคน
แต่วันนี้...มีการบูรณาการเทคโนโลยีระดับโลกเพื่อพลิกโฉมการพัฒนาไร่อ้อยของประเทศไทย ด้วยความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) ไอบีเอ็ม และกลุ่มมิตรผล ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลกและรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย
ในโครงการ "การพัฒนาโมเดลการจัดการเกษตรแปลงใหญ่สำหรับอ้อยโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์" ซึ่งจะนำร่องพัฒนาแดชบอร์ดอัจฉริยะและแอพพลิเคชันบนมือถือ เพื่อช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสุขภาพของอ้อย ความชื้นของดิน ความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีจากโรคและศัตรูพืช การคาดการณ์ผลผลิต และดัชนีค่าคุณภาพความหวานของอ้อย (ซีซีเอส)
ทั้งนี้ปัจจุบันนักวิจัยไอบีเอ็มกำลังพัฒนา “อโกรโนมิคอินไซต์แอสซิสแทนท์” (Agronomic Insights Assistant) ซึ่งใช้แพลตฟอร์มไอบีเอ็มวัตสันดีซิชันสำหรับการเกษตร (IBM Watson Decision Platform for Agriculture) ร่วมกับระบบไอบีเอ็มแพร์สจีโอสโคป (IBM PAIRS Geoscope) ซึ่งเป็นการผสานรวมข้อมูลความสัมพันธ์เชิงเวลาและพื้นที่ เช่น ภาพถ่ายพืชผลจากกล้องหลายช่วงคลื่นที่เก็บภาพมาจากดาวเทียมหลายตัว ข้อมูลดิน ข้อมูลแบบจำลองความสูงของภูมิประเทศในรูปแบบดิจิทัล ร่วมกับข้อมูลทางการเกษตร เช่น สุขภาพของอ้อย ระดับความชื้นของดิน พยากรณ์ความเสี่ยงโรคและศัตรูพืช ปริมาณผลผลิต และดัชนีค่าคุณภาพความหวานของอ้อย โดยใช้โมเดลการพยากรณ์ที่แม่นยำจากเดอะเวเธอร์คอมแพนี
จากนั้นจึงนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการสำรวจเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับการปรับและพัฒนาให้เหมาะกับการทำไร่อ้อยในประเทศไทยโดยเนคเทค-สวทช. และความรู้เฉพาะทางด้านการเกษตรจากกลุ่มมิตรผล เพื่อกลั่นกรองเป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาวะการขาดน้ำและอาหารที่ส่งผลต่อการเติบโตของอ้อย ความเสี่ยงของโรคและศัตรูพืช ตลอดจนปริมาณผลผลิตทางการเกษตรและดัชนีคุณภาพของอ้อย
เบื้องต้นจะมีการทดสอบใช้งานกับพื้นที่การปลูกอ้อยของกลุ่มมิตรผลจำนวน 3 แปลงพื้นที่รวมประมาณ 2,000 ไร่ ในจังหวัดสุพรรณบุรีและชัยภูมิ คาดว่าภายใน 2 ปี เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ จะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จะช่วยประเมินและจัดการความเสี่ยงต่างๆ ได้ตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
และด้วยข้อมูลเชิงลึกที่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้สูงสุดสองสัปดาห์ ร่วมกับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับโรคและศัตรูพืชอย่างหนอนเจาะลำต้นข้าวและความเสี่ยงที่จะเกิดโรคใบขาว และการพยากรณ์อากาศระยะสั้นตามฤดูกาลแบบเจาะจงพื้นที่ จะทำให้เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นการทดน้ำและระบายน้ำ การใส่ปุ๋ย และการกำจัดศัตรูพืช เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่อาจนำไปสู่การสูญเสียผลผลิตได้
"รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต" Head of Innovation and Research Development Institute กลุ่มมิตรผล บอกว่า กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนำมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลผลิตอ้อยทั้งในด้านของคุณภาพและปริมาณ
การร่วมมือกับสวทช. รวมถึงการนำเทคโนโลยีเอไอ การสำรวจระยะไกลผ่านดาวเทียม และระบบพยากรณ์อากาศขั้นสูงของไอบีเอ็มมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำไร่อ้อย จะเป็นก้าวที่สำคัญในการทำเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ซึ่งอยู่ภายใต้แผนการปรับเปลี่ยนให้เกษตรกรไทยก้าวสู่การทำเกษตรสมัยใหม่ หรือ Modern Farming ได้รวดเร็วขึ้น ทั้งยังสร้างประโยชน์ให้กับภาคเกษตรกรรมของไทยอย่างยั่งยืน
"นางสาวปฐมา จันทรักษ์" รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด บอกว่า การผนึกจุดแข็งของสวทช. และไอบีเอ็มในด้านการวิจัยและเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้บิ๊กดาต้า อนาไลติกส์ เอไอ และอินเทอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ เข้ากับความรู้เชิงลึกด้านการเกษตรของกลุ่มมิตรผล เป็นการพลิกโฉมแนวปฏิบัติของหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เก่าแก่ที่สุด และแสดงให้เห็นถึงก้าวย่างใหม่ของเกษตรกรรมอัจฉริยะในประเทศไทย
ด้าน "ดร.ชัย วุฒิวัฒน์ชัย" ผุู้อำนวยการเนคเทค บอกว่า เนคเทคทำเอไอมากว่า20 ปี แต่ยังมีโอกาสน้อยมากที่จะเข้าไปถึงระดับผู้ใช้งาน ความร่วมมือนี้ ถือว่าเป็นความสมบูรณ์แบบเมื่อมีอุตสาหกรรมด้านการเกษตรขนาดใหญ่อย่างมิตรผลที่ทำเรื่องอ้อยมากว่า 60 ปี มีไอบีเอ็มที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีระดับโลก รวมถึงเนคเทค หน่วยงานวิจัยของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันพัฒนาโครงการอะกรีแมพ ร่วมกับหน่วยงานด้านการเกษตรของประเทศไทย
" 3 ศูนย์ข้อมูลจาก 3 หน่วยงาน" เมื่อนำมารวมกัน ก็สามารถทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ และมีโอกาสที่จะทำให้เกิด "สมาร์ทฟาร์มเมอร์" อย่างแท้จริง