กสทช.ผนึกหน่วยงานรัฐ คุมโฆษณาผิดกฎหมาย
ไอที


พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกสทช. กล่าวว่า การกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นภารกิจที่ กสทช. และ อย.ต่างก็มีอำนาจหน้าที่ภายใต้กฎหมายของตนเอง ก่อนหน้านี้การทำงานเป็นลักษณะที่แต่ละหน่วยงานต่างทำงานไปภายใต้ระบบของตนเอง ทำให้การพิจารณาข้อร้องเรียนแต่ละเรื่องกว่าจะได้ข้อยุติและสิ้นสุดกระบวนการใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ปัจจุบันสามารถสรุปเรื่องให้แล้วเสร็จได้ภายใน 3 วัน นับตั้งแต่มีความร่วมมือจนถึงปัจจุบัน ตรวจพบผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์กระทำความผิด และดำเนินการไปแล้วกว่า 70 ราย สั่งระงับการโฆษณาที่ผิดกฎหมายไปแล้วกว่า 120 กรณี และสามารถจัดการปัญหาการโฆษณาได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในสื่อวิทยุกระจายเสียง ตรวจพบผู้ประกอบการที่เข้าข่ายกระทำความผิดสูงถึงเกือบ 400 สถานี โดยพบการโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายมากกว่า 800 กรณี มีการวินิจฉัยว่ามีการโฆษณาที่ผิดกฎหมายแล้วกว่า 170 สถานี และเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ราว 475 กรณี สั่งระงับการโฆษณาไปแล้วกว่า 100 กรณี ในสถานีวิทยุ 50 สถานี และจะเร่งดำเนินการระงับการโฆษณาที่ผิดกฎหมายทั้งหมด เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

“ในส่วนของสื่ออินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์นั้น กสทช. ไม่มีอำนาจโดยตรงจึงต้องกำกับดูแลร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ผ่านมา อย. ตรวจพบการโฆษณาที่ผิดกฎหมายในกว่า 570 URL ซึ่ง กสทช. สามารถแจ้งผู้ให้บริการอินเทอร์เนต (ISP) ระงับ/ปิดกั้นกว่า 240 URL หรือ 42%” พล.ท.พีระพงษ์ กล่าว
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการอย. กล่าวว่า ที่ผ่านมานอกจากมีการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาโฆษณาจากผู้ร้องเรียนและเครือข่ายแล้ว สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในปี 2561 อย. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณามากกว่า 4,000 รายการ และตรวจจับผู้กระทำผิดมูลค่าสินค้ามากกว่า 200 ล้านบาท เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปมีประสิทธิภาพและอย่างยั่งยืน ครอบคลุมทุกสื่อ จึงได้ร่วมกันจัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว
พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการ สคบ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจได้มีการทำการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยใช้ช่องทางโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ ป้ายโฆษณา วิทยุ และทางอินเทอร์เน็ต โดยมีการอวดอ้างสรรพคุณ แจ้งรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของสินค้าหรือบริการที่เป็นเท็จเกินจริง หรือใช้เทคนิคทางการตลาดที่เอาเปรียบผู้บริโภค เช่น การจัดรายการส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถม แจ้งราคาเกินจริง เป็นโดยสคบ. ได้จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อทำการตรวจสอบสินค้าและการโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจในสื่อต่างๆ ซึ่งพบว่าทางสื่อวิทยุโทรทัศน์ และเคเบิ้ลทีวี มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจเป็นการอวดอ้างสรรพคุณที่เป็นเท็จเกินจริง 70-80% และได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้ว