ข่าวสกว.เปิดเวทีโชว์เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม2.5 - kachon.com

สกว.เปิดเวทีโชว์เทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม2.5
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2562 ) ที่โรงแรม พูลแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “สถานภาพเทคโนโลยีและแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย”  โดย ศ. นพ.สุทธิพันธ์   จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า  งานเสวนานี้จัดโดยโครงการสัมมนาเผยแพร่ฯ (TRF Forum) ภายใต้งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สกว. เพื่อเผยแพร่งานวิจัยด้านเทคโนโลยี ข้อมูลข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง สกว. รวมถึงเป็นเวทีหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างนักวิจัย สกว. ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และกรมควบคุมมลพิษ  ซึ่งจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ทั้งเชิงปฏิบัติและเชิงทฤษฎีเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตบนฐานองค์ความรู้จากงานวิจัย ทั้งนี้ปัจจุบันสกว.ได้ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับด้านหมอกควันรวม62 โครงการ

ผศ. ดร.สรรเพชญ   ชื้อนิธิไพศาล  จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการตรวจสอบแหล่งที่มาของฝุ่นละอองว่า  จากประสบการณ์การทำงานท่ามกลางหมอกควันในภาคเหนือในปี  2559 จุดประกายให้ตนพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดสภาพความรุนแรงของปัญหาหมอกควันให้กับคนในพื้นที่ ในฐานะที่เป็นนักวิจัยด้านวิศวกรรม โดยมีเป้าหมายติดตั้งให้ได้ครบทุกตำบลในจังหวัดน่านให้ทันภายในต้นปี 2560 เพราะปัญหาไฟป่าจะเกิดในช่วงต้นปี เพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในจังหวัดน่าน โดยส่งข้อมูลทุก 5 นาทีมาที่ระบบคลาวด์ทำให้ประเมินสถานการณ์ได้ตลอดเวลา  ปัจจุบันทางจังหวัดได้มีการใช้ข้อมูลจากเครือข่ายเซนเซอร์ดังกล่าวในการมอนิเตอร์สถานการณ์  ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายแทนการใช้เฮลิคอปเตอร์ในการบินสำรวจเหมือนในอดีต
สำหรับภาพรวมเทคโนโลยีที่ใช้ในการลดฝุ่นละอองที่แหล่งกำเนิด การดักจับและการกำจัดฝุ่นละอองในภาคอุตสาหกรรม ขนส่ง ครัวเรือนและพื้นที่สาธารณะนั้น

ศ.กิตติคุณ ราชบัณฑิต ดร.วิวัฒน์  ตัณฑะพานิชกุล  กล่าวว่า การทำงานวิจัยด้านฝุ่นในช่วงแรกนั้นปัญหามลภาวะอากาศยังไม่ค่อยเป็นที่สนใจมากนัก งานวิจัยส่วนใหญ่จึงมุ่งไปที่ PM10 เป็นหลัก แต่ในปัจจุบันฝุ่นละอองมีขนาดเล็ก  PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพมากขึ้น  ทั้งนี้ฝุ่นมีหลากหลายรูปแบบจากแหล่งต่าง ๆ ปัจจุบันยังไม่มีเครื่องกำจัดฝุ่นชนิดใดที่เหมาะสำหรับใช้กำจัดฝุ่นทุกประเภทในเครื่องเดียว ดังนั้นควรเลือกใช้ให้เหมาะสม  และประสิทธิภาพของตัวกรองจะขึ้นอยู่กับขนาดของเส้นใย ซึ่งเส้นใยที่ละเอียดมากขึ้นจะสามารถจับอนุภาคขนาดเล็กได้มากขึ้นด้วย

ผศ. ดร.ยศพงษ์  ลออนวล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  (มจธ.) นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย  กล่าวว่า  จากมาตรฐานการปล่อยมลพิษของยานยนต์ในประเทศไทย ปัจจุบันที่รถยนต์ส่วนบุคคลยังใช้มาตรฐานยูโร 4  แต่ในยุโรปหรือสากลใช้ยูโร 6  ส่วนรถกระบะและรถบรรทุกไทยยังใช้มาตรฐานแค่ยูโร 3  ทำให้การปล่อยมลพิษยังมีปัญหาอยู่มาก  ปัจจุบันทีมวิจัยได้มีการทดสอบประสิทธิภาพการเดินรถโดยสารไฟฟ้า โดยใช้เส้นทางของ ขสมก.พบว่า รถเมล์โดยสารที่วิ่งให้บริการในกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ สามารถวิ่งได้เฉลี่ยประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากการจราจรหนาแน่นมาก โดยเฉพาะในช่วงเช้าซึ่งถือว่าสิ้นเปลืองพลังงานอย่างมาก

ทั้งนี้ได้เสนอมาตรการในการแก้ปัญหามลพิษจากยานยนต์ด้วยการใช้เทคโนโลยียานยนต์และเชื้อเพลิงที่สะอาด  ซึ่งควรผลักดันให้เกิดการปรับมาตรฐานของยานยนต์ในไปสู่ยูโร 6 อย่างเร็วที่สุดหรือภายในปี 2566 ซึ่งหากใช้กับรถใหม่ในประเทศปีละ 1 ล้านคันจะช่วยลดมลพิษลงได้มากถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับรถยนต์ยูโร 3 และ 4 ในปัจจุบัน  ควรมีการส่งเสริมการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและยานยนต์สะอาด  มีมาตรการจัดการรถเก่าและการดูแลเครื่องยนต์ที่เหมาะสม  รวมถึงมาตรการลดระยะการเดินทางจากการใช้รถยนต์ เช่น ส่งเสริมการใช้จักรยาน และให้ลูกหลานไปโรงเรียนพร้อมกัน
 
ด้านดร.อดิศร์    อิศรางกูร  ณ อยุธยา กล่าวถึงแนวคิดและแนวทางทางเศรษฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นว่า  คนที่รายได้ปานกลางถึงสูง ควรมีมาตรการจ่ายภาษีตามค่าฝุ่นจากเครื่องยนต์ เช่น ภาษีประจำปีรถยนต์ตามการปล่อยมลพิษ  ภาษีน้ำมันตามค่าการปล่อยมลพิษ  รถที่ปล่อยควันพิษออกมามากควรที่จะต้องจ่ายแพงขึ้น ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถของหน่วยงานราชการ  ขณะที่ภาษีน้ำมันจะต้องหลีกเลี่ยงน้ำมันที่สกปรก  มีการออกแบบจูงใจให้คนหันไปใช้พลังงานสะอาด ใช้รถพลังงานสะอาด รวมถึงคิดค่าเข้าเมือง   เพื่อลดปริมาณรถที่เข้าเขตเมืองได้     ส่วนฝุ่นจากภาคเกษตรนั้นควรมีการรับรองที่มาของวัตถุดิบทางการเกษตร ปฏิเสธการรับซื้อจากผู้ประกอบการที่ปลูกข้าวโพดในเขตป่าสงวน หรือผลิตอ้อยจากไร่ที่มีการเผา สำหรับผู้มีรายได้น้อยควรมีการช่วยเหลือสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการลดมลพิษที่จะเกิดขึ้นเช่น เงินกู้ซื้อรถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำ และระบบการจัดการของเหลือใช้ มีมาตรการจูงใจให้เกิดการนำของเหลือทิ้งจากภาคเกษตรมาผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น
 
อย่างไรก็ดีภายในงานได้มีนำผลงานวิจัยซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการตรวจวัดและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5มาจัดแสดง  โดยไฮไลท์ คือ  อุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 และ AQI ขนาดเล็กและแบบพกพา ผลงานประดิษฐ์ล่าสุดของ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ จากศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเหมาะสำหรับให้ประชาชนใช้งานตรวจวัดคุณภาพอากาศ ณจุดที่อยู่ได้ด้วยตนเองแบบเรียลไทม์

ดร.อดิสร เปิดเผยว่า จากการสนับสนุนของสกว. ได้มีการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5  แบบพกพาขึ้นเรียกว่า มายแอร์ โดยเป็นเซ็นเซอร์ขนาดเล็กสำหรับตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบง่าย   ๆ เหมาะสำหรับเด็ก  ๆ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและอนาคตอาจต้องเจอกับปัญหาฝุ่นนี้ทุกปี  โดยมายแอร์สามารถแจ้งเตือนผ่านสีบนอุปกรณ์ ซึ่งจะรู้ได้ว่าจุดที่เด็ก  ๆ ต้องเดินทางผ่านในขณะนั้น มีคุณภาพอากาศเป็นอย่างไร ควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่อใด   และสามารถแสดงผลผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือซึ่งแสดงค่าพีเอ็ม 2.5 และค่า AQI ได้อีกด้วย    
อุปกรณ์ดังกล่าวใช้เซ็นเซอร์ขนาดเล็ก ที่มีความแม่นยำใกล้เคียงกับอุปกรณ์มาตรฐานขนาดใหญ่ และให้ข้อมูลที่ใกล้เคียงความเป็นจริง ดีกว่าดูจากแอพพลิเคชั่น ซึ่งต้องดึงจากสถานีตรวจวัด ซึ่งอาจอยู่ไกลจากจุดที่ผู้ใช้งานอยู่ในขณะนั้น สามารถนำไปปรับใช้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่นเข็มกลัด นาฬิกาหรือเครื่องประดับได้

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมีการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศหรือ “แอร์เซ็นส์” ซึ่งมีขนาดเล็ก แต่สามารถวัดปริมาณผุ่น และแก็สพิษต่าง ๆ ที่มีผลต่อการวัดคุณภาพอากาศตามมาตรฐานได้  เหมาะสำหรับการติดตั้งตามอาคารบ้านเรือน หรือในโรงเรียนต่าง ๆ  โดยจะเก็บข้อมูลและแสดงผลผ่านเว็บไซต์หรือบนมือถือได้แบบเรียลไทม์อีกด้วย

และยังมีงานวิจัยการออกแบบโครงสร้างน้ำหนักเบาสำหรับรถโดยสารไมโครบัสไฟฟ้าในประเทศไทยด้วยวัสดุคอมโพสิท ของ ผศ. ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ซึ่งได้ออกแบบโครงสร้างรถสำหรับระยะการขับขี่ 300 กิโลเมตร  รวมถึงการวิจัยผลกระทบของเชื้อเพลิงชีวภาพต่อจลศาสตร์เคมีในโครงสร้างระดับนาโนของมลพิษอนุภาคเขม่าและกลไกการสึกหรอของเครื่องยนต์ของผศ. ดร.ปรีชา การินทร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  ซึ่งระบุว่าเครื่องยนต์ดีเซลจะปล่อยมลพิษอนุภาคเขม่าจากการเผาไหม้ในปริมาณที่สูง และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งในปอดของผู้ที่อาศัยในเมืองใหญ่  อุปกรณ์กรองมลพิษอนุภาคเขม่าดีเซลหรือ DPF เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลังการเผาไหม้ที่ถูกออกแบบให้สามารถดักและสลายมลพิษอนุภาคเขม่าได้โดยอัตโนมัติ ควบคู่กับระบบควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีแผนจะนำมาใช้ในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้