ข่าวไบโอเทคสร้างเซลล์ยีสต์ลูกผสม ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพประสิทธิภาพสูง - kachon.com

ไบโอเทคสร้างเซลล์ยีสต์ลูกผสม ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพประสิทธิภาพสูง
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
ดร.วีรวัฒน์    รังกุพันธุ์   นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เปิดเผยว่า  จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายให้ความสนใจในเชื้อเพลิงทดแทน หรือ เชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น  ดังนั้นการพัฒนาระบบจุลินทรีย์ให้สามารถผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากแหล่งอาหารที่สามารถทดแทนได้ เช่น วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ 



ทีมวิจัย จึงได้ วิจัยและพัฒนาเซลล์ยีสต์ลูกผสมพิเชีย พาสตอริส (Pichia pastoris) สำหรับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพขึ้น   โดยจุลินทรีย์ที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถสร้างไอโซบิวทานอล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่สามารถใช้เป็นพลังงานทดแทนประสิทธิภาพสูงได้  

ทั้งนี้ยีสต์สายพันธุ์พิเชีย พาสตอริส มีข้อดีกว่ายีสต์สายพันธุ์อื่นๆ คือ สามารถใช้แหล่งคาร์บอนได้หลายประเภท เช่นกลูโคส กลีเซอรอล ซอร์บิทอล เมทานอล ฯลฯ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และ ลดต้นทุน ในการเตรียมอาหารเลี้ยงเชื้อ สามารถเติบโตได้รวดเร็ว และ หนาแน่น ซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาในการหมักเชื้อ ผลิตไอโซบิวทานอลในปริมาณสูง และสามารถผลิตเอนไซม์ที่เอื้อต่อการพัฒนาเชื้อเพื่อย่อยวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรให้เป็นไอโซบิวทานอล

ดร.วีรวัฒน์ฯ กล่าวว่า เซลล์ยีสต์ลูกผสมพิเชีย พาสตอริสที่ได้พัฒนาขึ้น สามารถผลิตไอโซบิวทานอลได้ถึง 2.22 กรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตไอโซบิวทานอลที่สูงที่สุดเท่าที่มีการรายงานในระบบยีสต์ และขณะนี้ทางทีมวิจัยอยู่ในขั้นตอนการพัฒนากระบวนการหมักแบบขยายขนาด (scale-up) ในระดับ 10 ลิตร และพัฒนาสายพันธุ์ยีสต์ดังกล่าวให้สามารถผลิตเอนไซม์ที่สามารถย่อยชีวมวลในกระบวนการหมักแบบขั้นตอนเดียว สำหรับการผลิตไอโซบิวทานอลจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น กากมัน และ ชานอ้อย เป็นต้น

ผลงานวิจัยนี้ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2562 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงานวันนักประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา