ข่าว สวทช.จับมือมจธ. พัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูง - kachon.com

 สวทช.จับมือมจธ. พัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูง
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้(18 ก.พ.62)  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในการพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูง นำร่องพัฒนาหลักสูตรเพื่อการพัฒนานักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ มจธ. ในสาขาที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ภายใต้โครงการพัฒนาวิจัยคุณภาพสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
   

ดร.ณรงค์    ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช.  กล่าวว่า   ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการร่วมกันพัฒนานักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมจธ. ให้เป็นบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูง ในสาขาที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ   ทั้งนี้ สวทช.  และ มจธ.ได้ มีความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างใกล้ชิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่ง สวทช. มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ และใช้จุดแข็งของ สวทช. ในด้านองค์ความรู้จากงานวิจัย ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมทั้งสนับสนุนบุคลากร ของ สวทช. ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีความเชี่ยวชาญสูงในสาขาต่างๆ และงานวิจัยที่เป็นความสนใจร่วมกันทั้งสองฝ่าย ร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษา ที่จะคอยดูแล เป็นพี่เลี้ยงช่วยบ่มเพาะศักยภาพด้านการวิจัยให้กับนักศึกษา
 นอกจากนี้ยังให้ความร่วมมือในด้านห้องปฏิบัติการวิจัย เครื่องมือ และอุปกรณ์การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และหน่วยวิจัยเครือข่าย เพื่อดำเนินงานวิจัยของนักศึกษาในโครงการ โดยเล็งเห็นว่าบุคลากรวิจัยคุณภาพมีส่วนสำคัญในการสร้างงานวิจัยที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อประเทศชาติ ที่จะเสริมแกร่งด้าน วทน. ต่อไป

ทั้งนี้ มจธ. และ สวทช. จะขยายขอบเขตความร่วมมือภายใต้โครงการโครงการพัฒนาวิจัยคุณภาพสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศทางด้านวิชาการเป็นเวลา 5 ปี ระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ถึง 17 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมุ่งเน้นการพัฒนานักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ภายใต้การดูแลและบ่มเพาะจากผู้เชี่ยวชาญของทั้ง 2 สถาบัน โดยเป็นการสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับปริญญาเอกเป็นระยะเวลา 3 ปี และภายใต้เงื่อนไขที่ มจธ. กำหนด  การลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในครั้งนี้จึงนับเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนากำลังคนเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง  ถือเป็นการรองรับการดำเนินการภายใต้นโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการลงทุนพิเศษ ที่เรียกว่า “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก”  (Eastern Economic Corridor : EEC) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation : EECi) ซึ่งจะมีส่วนในการพัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้งเตรียมความพร้อมทางการแข่งขันเวทีโลกให้กับประเทศ

อย่างไรก็ดีในโครงการดังกล่าว ตั้งเป้าสร้างบุคลากรออกมาจำนวน 50 คนในระยะเวลา 8 ปีข้างหน้า  และ สวทช. เตรียมแผนที่จะขยายความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยอื่นๆ ในประเทศ   เพื่อสร้างบุคลากรวิจัยของประเทศ จากปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรวิจัย จำนวน 17 คนต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน  และในปี 2564 จะเพิ่มให้ได้จำนวน 25 คนต่อประชากรหนึ่งหมื่นคน