ข่าวบอร์ดดีอี ให้แคททำคลาวด์กลาง ชี้ 3 ปีประหยัดงบ 5 พันลบ. - kachon.com

บอร์ดดีอี ให้แคททำคลาวด์กลาง ชี้ 3 ปีประหยัดงบ 5 พันลบ.
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (18 ก.พ.) ดร.พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) เมื่อวันนี้ 15 ก.พ.2562 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานฯ ได้พิจารณาการจัดหาคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC)ตามที่มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ Big Data, Data Center และคลาวด์คอมพิวติ้ง มีมติเห็นชอบแนวทางและงบประมาณในการจัดหาและให้ดำเนินการจัดหาคลาวด์กลางภาครัฐ โดยสามารถจัดทำสัญญา ได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี  โดยกระทรวงดีอี มอบหมายให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) จัดระบบทำคลาวด์กลาง พร้อมเสนอขอให้มีการจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ. 2563–2565 ซึ่งคาดว่าจะทำให้รัฐบาลประหยัดค่าเช่าคลาวด์ของประเทศไปได้มากกว่า 5,000 ล้านบาท
 
ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้องการหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ปัจจุบันหลายหน่วยงานยังขาดเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายสำหรับใช้งาน ขาดแคลนบุคลากร ขาดความรู้ความเข้าใจและขาดการบริหารจัดการองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบงานของหน่วยงานในการเปลี่ยนเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล ดังนั้น แนวทางจัดทำระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (G-Cloud) จะออกแบบให้เป็นระบบที่สามารถให้บริการได้กับหลายระบบงานของภาครัฐ ที่มีความต้องการใช้งานด้านเครือข่ายเชื่อมโยงที่แตกต่างและหลากหลาย อีกทั้งเป็นการสร้างวิศวกรที่ทำงานเกี่ยวกับคลาวด์ของประเทศได้มากกว่า 2,500 คน ภายในเวลา 3 ปี
 
นอกจากนี้ กระทรวงดีอี โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้นำเสนอรายงานสรุปสถานะการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยตามผลการจัดอันดับของสถาบันชั้นนำในระดับสากล ในรอบปี 2561 ทั้งในส่วนของ สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งในภาพรวม อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน และมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของอันดับในทิศทางที่ดีขึ้นในแทบทุกด้าน โดยประเด็นที่มีความโดดเด่นคือ การปรับตัวดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดของดัชนี และตัวชี้วัดในมิติโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ในขณะที่การพัฒนาในมิติสังคมดิจิทัล กำลังคนดิจิทัล และการสร้างความเชื่อมั่นด้านดิจิทัล ก็มีพัฒนาการต่อเนื่อง
 
อีกทั้ง กระทรวงดีอี จะติดตามและวิเคราะห์สถานะการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ โดยจะมีการกำหนดกลไกและเครือข่ายในการติดตาม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านการพัฒนาดิจิทัลของประเทศ ซึ่งในรอบปี 2561 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดีขึ้นจากดัชนีระดับโลกของหลายสถาบัน ได้แก่ ดัชนีGlobal Competitiveness 4.0ของ World Economic Forum (WEF) ความสามารถในการแข่งขันยุค 4.0 ซึ่งสะท้อนภาพการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล อยู่ในอันดับที่ 38 จาก 140 ประเทศ (ขยับขึ้น 2 อันดับจากปี2560)  โดยในกลุ่มตัวชี้วัดพลวัตทางธุรกิจ (Business Dynamism) อยู่ในอันดับที่ 27จาก 140 ประเทศ (ขยับขึ้น 8อันดับจากปี 2560) ดัชนีWorld Digital Competitiveness ของ IMDมีผลการจัดอันดับในภาพรวม อยู่ในอันดับที่ 39 จาก 63ประเทศ (ขยับขึ้น 2 อันดับจากปี 2560) โดยกลุ่มตัวชี้วัดด้านกรอบการพัฒนาทางเทคโนโลยี (Technological Framework) อยู่ในอันดับที่23 จาก 63 ประเทศ (ขยับขึ้น7 อันดับจากปี 2560)
 
ดัชนี e-Government Development ของ UN มีผลการจัดอันดับในภาพรวม อยู่ในอันดับที่ 73 จาก 193ประเทศ (ขยับขึ้น 4 อันดับจากปี 2559) โดยในดัชนีย่อยด้าน Online Service ภายใต้ดัชนี e-Government Development และดัชนี e-Participation ประเทศไทยได้รับจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาในระดับสูง ดัชนีGlobal Cybersecurity Indexจัดทำโดย ITU ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จากการจัดอันดับครั้งล่าสุดในปี 2560 อยู่ในอันดับที่ 22 จาก 193 ประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับดีมาก
 
“ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญ ในเรื่องการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อน 5G และเดินหน้าการทดสอบภาคสนามในพื้นที่EEC ซึ่งกระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการและทดสอบเทคโนโลยี 5G ขึ้น โดยมีองค์ประกอบ ทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน มีการหารือแนวทางการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา  ได้นำภาคเอกชนและสื่อมวลชนเยี่ยมชมสถานที่ และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ หารือแนวทางในการทดสอบเทคโนโลยี 5G รวมถึงมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการเรื่องการทดสอบเทคโนโลยี 5Gระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย” ดร.พิเชฐกล่าว