สดร.ชวนชม'ซูเปอร์ฟูลมูน'คืนมาฆบูชา
ไอที
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น แต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 356,400 กิโลเมตรและตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,700 กิโลเมตร ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก มีผลทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลงมากกว่าปกติเล็กน้อยเท่านั้น ไม่มีผลกระทบอื่นใดต่อโลก นอกจากนี้ การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
แม้ว่าดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่อาจไม่ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง สำหรับ “ดวงจันทร์เต็มดวงและใกล่้โลกที่สุดในรอบปี” ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 8 เมษายน 2563 ห่างประมาณ 357,022 กิโลเมตร นายศุภฤกษ์กล่าว
อย่างไรก็ตามในวันที่ 19 ก.พ.62 สดร. จัดสังเกตการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. เชิญชวนประชาชนร่วมส่องจันทร์ดวงโตชัดเต็มตาด้วยกล้องโทรทรรศน์หลายรูปแบบ และร่วมบันทึกภาพหลุมอุกกาบาตและภูเขาบนดวงจันทร์ผ่านโทรศัพท์มือถือ 4 แห่ง ณ หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา และ ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จ.สงขลา นอกจากนี้ โรงเรียนเครือข่ายในโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ ยังร่วมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดังกล่าวอีกกว่า 360 แห่งทั่วประเทศ ตรวจสอบรายชื่อได้ที่ www.NARIT.or.th