ข่าวสวทช. ชู 3 เทคโนโลยี เพิ่มมูลค่า 'ผ้าทอล้านนา' - kachon.com

สวทช. ชู 3 เทคโนโลยี เพิ่มมูลค่า 'ผ้าทอล้านนา'
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
นางมาลี กันทาทรัพย์ ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผ้าฝ้ายทอมือ-ผ้าฝ้ายนาโนบ้านหนองเงือก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวว่า บ้านหนองเงือกเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมผูกพันกับอาชีพทอผ้ามายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่การผลิตผ้าฝ้ายทอมือยังคงมีปัญหาตั้งแต่เรื่องของการเตรียมผ้าฝ้ายก่อนนำไปย้อม ที่ต้องนำผ้ามาลอกแป้ง ทำความสะอาดสิ่งสกปรก โดยจะนำไปต้มในความร้อนนานหลายชั่วโมง ซึ่งการต้มผ้านานๆ นอกจากจะทำให้เส้นใยเสียหายได้แล้ว ผ้าฝ้ายที่ได้จากการต้มยังมีปัญหามีแป้งและสิ่งสกปรกตกค้าง เมื่อย้อมจึงสีเกิดปัญหาสีด่าง ติดสีไม่สม่ำเสมอ นอกจากนี้แล้วตัวผ้าฝ้ายเองยังมีความหยาบกระด้าง เวลาเก็บไว้นานๆ จะมีกลิ่นอับ และสีซีดจางได้เร็ว   เพื่อแก้ปัญหา เพิ่มคุณภาพในการผลิตผ้าฝ้ายและผ้าทอพื้นเมือง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ได้ลงพื้นที่จัดทำ โครงการการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับสิ่งทอพื้นเมือง นำองค์ความรู้งานวิจัยทั้งจาก สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ถ่ายทอดให้กับชุมชนทอผ้า เพื่อยกระดับคุณภาพผ้าทอพื้นเมือง สร้างความเข้มแข็งชุมชนให้ก้าวทันเทคโนโลยี 

นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และในฐานะผู้อำนวยการ สท. เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามผลงานผู้ประกอบการกลุ่มผ้าทอ จ.ลำพูน ว่า โครงการสร้างผู้นำชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอนาโนภาคเหนือ ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ดำเนินการครอบคลุม 6 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำปาง น่าน พะเยา และ ลำพูน โดย สวทช. ต้องการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ผู้นำชุมชนได้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สิ่งทอพื้นเมือง และถ่ายทอดต่อให้กับชุมชนหรือเครือข่ายของตนเองได้ พร้อมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ระหว่างชุมชน

  “จังหวัดลำพูนเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย โดย บ้านหนองเงือก อ.ป่าซาง เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่ประสบความสำเร็จจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างมาก ซึ่งเทคโนโลยีที่เข้าไปอบรมถ่ายทอดจะมี 3 เทคโนโลยีหลักที่ ได้แก่ เทคโนโลยีเอนไซม์เอนอีซ (ENZease) ผลงานวิจัยจากศูนย์ไบโอเทค เป็นเอนไซม์อัจฉริยะ ทูอินวัน ซึ่งผลิตได้จากการหมักเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยใช้จุลินทรีย์ที่คัดเลือกจากศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย สามารถลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายได้พร้อมกันในขั้นตอนเดียวช่วยประหยัดเวลา ประหยัดพลังงาน อีกทั้งช่วยถนอมผ้าฝ้ายให้คงคุณภาพ ไม่ถูกทำลายเหมือนการใช้สารเคมี เทคโนโลยีพิมพ์สกรีนผ้าด้วยสีธรรมชาติ ผลงานของศูนย์เอ็มเทค ได้พัฒนาสีธรรมชาติจากทรัพยากรให้ท้องถิ่น ให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการพิมพ์บนผ้าทอแทนการใช้สีเคมี ด้วยการคิดค้นวิธีการเตรียมสีให้อยู่ในรูปสารละลายเข้มข้น หรือผงพร้อมใช้ และเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน ของศูนย์นาโนเทค ได้พัฒนาน้ำยาเคลือบนาโนเพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้ผ้าได้หลากหลาย เช่น มีกลิ่มหอม นุ่มลื่น สะท้อนน้ำ เพื่อต่อยอดผ้าทอล้านนาให้มีจุดเด่นทั้งในด้านคุณภาพ และตรงตามความต้องการของลูกค้า”

 นางมาลี กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผ้าฝ้ายฯ ได้ส่งแกนนำกลุ่มทอผ้าไปอบรมเทคโนโลยีกับทางสวทช. แล้วนำองค์ความรู้กลับมาปรับใช้กับการผลิตผ้าทอพื้นเมือง เช่น การใช้เอนไซม์เอนอีซในการลอกแป้ง ทำความสะอาดผ้าฝ้าย ซึ่งใช้ง่ายมากเพียงแค่แช่ผ้ากับเอนไซม์ค้างคืนไว้ ผ้าที่ได้สะอาดไม่หลงเหลือแป้ง เวลานำไปย้อมสีก็ติดสีดีมาก สม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีการพิมพ์ลายผ้าด้วยสีธรรมชาติ เขาพัฒนาสีผงจากใบลำใยซึ่งปลูกมากในจังหวัดลำพูนมาใช้ในรูปแบบผง ที่เราสามารถละลายสีและใช้พิมพ์ลายได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง ที่สำคัญเลยเทคโนโลยีนาโนซึ่งกลุ่มฯ ได้ส่งผ้าฝ้ายไปเคลือบที่ศูนย์นาโนเทค ทำให้ผ้ามีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มขึ้น ทั้งนุ่มลื่น ป้องกันสีซีดจาง สะท้อนน้ำ ยับยั้งแบคทีเรีย และมีกลิ่นหอมติดทนนาน เป็นการแก้ปัญหาผ้าฝ้ายได้อย่างตรงจุด และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองอย่างมาก เวลาลูกค้ามาซื้อก็ชอบผ้าทอนวัตกรรม อย่างเสื้อผ้าฝ้ายทอมือราคาก่อนเคลือบขายตัวละ 1,000 บาท เมื่อผ่านการเคลือบนาโนแล้ว ขายตัวละ 1,500 บาท เป็นต้น 

นอกจากหมู่บ้านหนองเงือกแล้ว ยังมีการต่อยอดขยายผลงานวิจัยไปช่วยพัฒนา ‘ผ้าฝ้ายทอมือออร์แกนิก’ ของบ้านก้อทุ่ง อ.ลี้ โดย สท. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น ศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประจำภูมิภาค ภาคเหนือตอนบน (ศวภ.1) และศูนย์วิชาการเทคโนโลยีสิ่งทอพื้นบ้าน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเรื่องการปรับเส้นด้ายฝ้ายทอมือให้มีขนาดที่เล็กลง และทำให้เส้นฝ้ายมีหลายสีผสมกัน 

ด้านนางกัลยาณี เกตุแก้ว ฝ่ายการตลาดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มพัฒนาอาชีพผู้สูงอายุบ้านก้อทุ่ง ต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน กล่าวว่า บ้านก้อทุ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปิง มีการปลูกฝ้ายสีออร์แกนิก ผลิตผ้าฝ้ายทอมือที่ปลอดสารเคมี แต่การผลิตผ้าฝ้ายทอมือของกลุ่มฯ ยังมีปัญหา เช่น ผ้าคลุมไหล่ที่ทอออกมายังมีน้ำหนักมากถึง 500 กรัม ทาง สวทช. ได้ประสานงานหน่วยงานเครือข่ายมาให้ความรู้เรื่องการปั่นเส้นด้ายฝ้ายโดยการใช้เฝี่ยน (เครื่องปั่นด้ายแบบดั้งเดิม) และเครื่องปั่นด้ายเมเดลรีจักรา (MC) ที่ทำให้เส้นฝ้ายมีขนาดเล็กลง เมื่อนำไปทอได้ผ้าคุณภาพดี มีน้ำหนักเหลือเพียง 200 กรัมเท่านั้น ประหยัดเส้นฝ้ายได้มาก นอกจากนี้ยังให้แนวคิดการนำฝ้ายทั้ง 3 สีมาผสมกัน โดยการตียวงให้เป็น 3 สีในเส้นเดียว พอมาทอต่อยอดเป็นผ้าคลุมไหล่ 3 สี ลูกค้าก็บอกว่าสวยดี จากเดิมขาย 200 บาท เพิ่มมูลค่าเป็นผืนละ 400 บาท สำหรับปัญหาผ้าฝ้ายที่มีความหยาบกระด้าง มีกลิ่นเหม็นอับ เราได้ส่งผ้าทอไปเคลือบน้ำยานาโน ช่วยให้ผ้านุ่มลื่น มันวาว และมีกลิ่นหอมเป็นกลิ่นอโรมาและกลิ่นกุหลาบขาว ช่วยต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าทอยกดอกฝ้ายสีธรรมชาติซึ่งราคาขายเดิม 2,000 บาท/ผืน แต่พอใช้เทคโนโลยีนาโน เมื่อนำไปทดลองขายสามารถขายในราคา 4,000 บาท/ผืน ได้ผลตอบรับที่ดีมากจากลูกค้า นับเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเข้ากับภูมิปัญญาท้องถิ่น ช่วยให้กลุ่มผ้อทอพื้นเมืองในจังหวัดลำพูน มีความภูมิใจและมีอาชีพที่เข้มแข็งที่จะสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้าพื้นเมืองแห่งล้านนาให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นและคงอยู่สืบไป