ข่าวเปิดพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ไฟเขียวเปลี่ยนมือผู้รับใบอนุญาตได้ - kachon.com

เปิดพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ไฟเขียวเปลี่ยนมือผู้รับใบอนุญาตได้
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (6 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการกสทช. กล่าวถึงเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ฉบับใหม่ (พ.ร.บ.กสทช.) ที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2562 ว่า กสทช.มีการปรับปรุงกฏหมายแล้ว 3 ครั้ง สาระสำคัญของฉบับล่าสุด เป็นการปรับปรุงตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 มาตรา 60 ที่กำหนดว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ และคลื่นความถี่ต้องเอาไปใช้โดยคำนึงถึงประโยชน์ประชาชน ความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะ รัฐต้องกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำของคลื่นความถี่เพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะ โดยกสทช.เป็นองค์กรทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องแก้ไขบทบัญญัติของพ.ร.บ.กสทช.ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญภายใน 180 วัน
 
อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายใหม่ กสทช.จึงต้องรับผิดชอบคลื่นความถี่และสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียม และมีหน้าที่หาผู้ประกอบการมาดำเนินการ โดยกสทช.มีอำนาจออกประกาศหลักเกณฑ์ในการใช้วงโคจรดาวเทียม ส่วนการดำเนินในการให้บริการ เพื่อให้การจัดการดาวเทียมสมบูรณ์ กสทช. ยังมีอำนาจในการออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต และการเก็บค่าธรรมเนียมดาวเทียมระหว่างประเทศ และกสทช.ต้องออกแผนแม่บทในการบริการสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม การปรับปรุงกฎหมายยังให้อำนาจกสทช.ดูแลกิจกิจการดาวเทียมอย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้ ประเด็นที่กฎหมายให้ความชัดเจนการกำกับกิจการดาวเทียม ได้เขียนให้กสทช ทำหน้าที่หน่วยงานของรัฐกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) และองค์กรอื่นทั้งหมด ส่วนการกำหนดสัดส่วนการใช้คลื่นความถี่สำหรับบริการสาธารณะ โดยกสทช.กำหนดการใช้คลื่นขั้นต่ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 (เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 20) สำหรับการถอดถอน กสทช. รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ให้อำนาจถอดถอนกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 
อีกทั้ง สนช.ได้เพิ่มเติมบทบัญญัติให้กสทช.กำหนดเลขหมายฉุกเฉินแห่งชาติให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่รองรับการหลอมรวมทางเทคโนโลยี โดยกสทช.จะเป็นผู้ออกประกาศในการใช้คลื่นความถี่ ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดว่าต้องการใช้งานคลื่นความถี่ในกิจการที่มีการหลอมรวมกสทช.ต้องเสนอพระราชกฤษฎีกาเพื่อขออนุญาตให้ดำเนินการได้ ประเด็นสุดท้าย คือกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องการโอนสิทธิในใบอนุญาตที่ได้รับไป แต่ต้องให้กสทช.ออกหลักเกณฑ์ในการโอนสิทธิการใช้คลื่นความถี่ก่อน

“ภายใน 6 เดือนหลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา กสทช.ต้องรายงานความคืบหน้าต่อรัฐบาลและรัฐสภาทราบถึงในการทำร่างหลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่ในการบริการหลอมรวม ซึ่งอาจจะเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการกิจการโทรทัศน์มีความร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมได้”