กสทช.–จุฬาฯ เปิดศูนย์ทดสอบ 5จี อย่างเป็นทางการ
ไอที
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า หลังจากกสทช. ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับจุฬาฯ เพื่อจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5จี ภายในจุฬาฯ เป็นเวลา 2 ปี เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2561 ขณะนี้กสทช. และจุฬาฯ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5จี ที่มีการติดตั้งและดูแลอุปกรณ์สถานีฐานของโครงข่าย 5จี โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการอบรมให้ความรู้หรือศูนย์สาธิตการดูงานด้าน 5G AI / IoT ในระดับนานาชาติ ตามแนวนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผลักดันประเทศไทยเข้าสู่เทคโนโลยี 5G
ทั้งนี้ ติดตั้งสถานีฐานที่อาคารวิศวฯ 100 ปี ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ใช้คลื่น 26.5 – 27.5 กิกะเฮิร์ตซ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ 5G AI / IoT Innovation Center ภายในเดือนนี้ และจะติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายศูนย์กลางที่ชั้น 9 อาคารวิศวฯ 100 ปี โดยติดตั้งสถานีฐานในระยะที่ 2 จะให้ครอบคลุมพื้นที่จุฬาฯ ทั้งหมด ซึ่งกสทช. จะอำนวยความสะดวกในการนำเข้าอุปกรณ์และการอนุญาตคลื่นความถี่สำหรับทดลองทดสอบ ทั้งนี้ ตัวอย่างการทดลองทดสอบผ่านการใช้เทคโนโลยี 5จี ได้แก่ การพัฒนาการขนส่งด้วยระบบ 5จี อาทิ การพัฒนาต้นแบบรถยนต์ขับเคลื่อนได้เองอัตโนมัติ, ติดตั้งกล้องไร้สาย ภายในและภายนอกรถบัส ติดตั้งเซนเซอร์วัดสภาพแวดล้อม เป็นต้น Smart Hospital and Telehealth และการทดสอบระบบการใช้งานเสาอัจฉริยะยุคหน้า
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาฯ กล่าวว่า ศูนย์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และองค์ความรู้ในการกำกับดูแลและนโยบายส่งเสริมให้เกิดบริการ 5จี ตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้แก่ประเทศ โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศ โดยฯ จะถือเป็นต้นแบบของเมืองแห่งอนาคตที่พร้อมไปด้วยเทคโนโลยีและคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาคมจุฬาฯ ผลจากการทดสอบทดลอง และการวิจัยและพัฒนาในโครงการนี้จะสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ตอบสนองนโยบาย Digital Transformation ของประเทศต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ทีมคณาจารย์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกรายในการวางแผนพัฒนาโครงข่ายและรูปแบบบริการต่าง ๆ พร้อมแล้ว นอกจากนี้ เรายังได้ร่วมมือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ บริษัทสตาร์ทอัพและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างให้เกิดระบบนิเวศน์ของการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการ 5จี ของประเทศ