ข่าวกสทช.ผนึกจุฬาฯ เปิดศูนย์ทดสอบ5จี เป็นเวลา 2ปี - kachon.com

กสทช.ผนึกจุฬาฯ เปิดศูนย์ทดสอบ5จี เป็นเวลา 2ปี
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (4 ก.พ.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า สำนักงานกสทช.ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5จี ภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์เป็นเวลา 2 ปี โดยจะดำเนินการศึกษา ทดสอบ และตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ ระบบ รวมถึงบริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี 5จี ได้แก่ อุปกรณ์เชื่อมต่อ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) ระบบการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล บิ๊กดาต้า ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ระบบสาธารณสุขทางไกล เป็นต้น โดยจะใช้คลื่นความถี่ช่วง 26-28 กิกะเฮิร์ตซ 
    
ทั้งนี้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามความร่วมมือกับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ในการสร้างห้องแล็ป เพื่อทดลอง 5จี ไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่ภาคเอกชนตื่นตัวในการหาโซลูชันการทดลองทดสอบระบบ 5จี ก่อนที่จะมีการใช้งานจริงจริง
    
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งศูนย์ทดสอบ5จี จะใช้งบประมาณ 40-50 ล้านบาท โดยจะใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ของสำนักงานกสทช. จะนำร่องปรับใช้กับระบบการแพทย์ทางไกลรักษา 4 โรคหลัก ได้แก่ โรคตา โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคผิวหนัง เนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ต้องสัมผัสร่างกายโดยตรงก็สามารถวินิจฉัยได้ อีกทั้งพบว่า 70-80% ของผู้ป่วยที่รอพบแพทย์ เป็นผู้ป่วยในกลุ่ม 4 โรคข้างต้น 
    
ด้านนายสุพจน์ เธียรวุฒิ ที่ปรึกษาอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ทดลองทดสอบ 5จีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์แห่งนี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการศึกษาและทดสอบ ซึ่งจะตั้งอยู่บนอาคาร 100 ของคณะวิศวะ จุฬาฯ โดยศูนย์ดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้บุคลากรของจุฬาฯ นิสิต กลุ่มสตาร์ทอัพ และองค์กรหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมการทดสอบ หากการดำเนินการเป็นไปตามกรอบเวลาคาดว่าจะเริ่มทำการทดสอบ 5จี ในไตรมาสที่สองของปี 2562 ทั้งนี้ จุฬาฯ ต้องการศึกษาผลกระทบเชิงสังคมโดยเฉพาะข้อกังวลว่า 5จี จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้หรือไม่ เพราะประโยชน์จาก 5จีน่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม หรือคนที่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี