ข่าววช.เตรียมจัดงานวันนักประดิษฐ์โชว์ผลงานคนไทยกว่า 1,400 ชิ้น - kachon.com

วช.เตรียมจัดงานวันนักประดิษฐ์โชว์ผลงานคนไทยกว่า 1,400 ชิ้น
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (31 ม.ค.62) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร  สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเลขานุการร่วมสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จัด แถลงข่าวการจัดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2562
  
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล  เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  (วช.) กล่าวว่า  วันนักประดิษฐ์ เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย”หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร  ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของไทย และเป็นครั้งแรกของโลก รวมทั้งทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักประดิษฐ์ไทยในการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขญหาให้กับประชาชนและสังคมรวมได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

การจัดงานวันนักประดิษฐ์ในครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 21 ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เพื่อความก้าวไกลของประเทศไทย”  เพื่อนำเสนอสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพร้อมใช้และความก้าวหน้าด้านการประดิษฐ์คิดค้นของประเทศให้เกิดการขยายผล และนำไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ สอดคล้องกับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) และเป้าหมายประเทศไทย 4.0  ในการนำการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมของประเทศ  

ภายในงานนอกจากนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร นิทรรศการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” แล้วยังมี นิทรรศการรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติและสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติแล้ว    และนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ใน 7 ด้าน คือ   การเกษตร   พลังงาน  อุตสาหกรรม  การแพทย์และสาธารณสุข  ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม  การศึกษาและภูมิปัญญาไทย และ ความมั่นคงปลอดภัย รวมถึงมีมหกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติอีกด้วย  รวมผลงานที่นำมาจัดแสดงกว่า 1,400 ชิ้น

ทั้งนี้ภายในงานแถลงข่าวได้มีการนำผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจมาจัดแสดง  เช่น “เครื่องฟอกอากาศโดยใช้ตาข่ายสนามไฟฟ้าโคโรนาแบบพัลส์” ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิศีโรตม์   เกตุแก้ว   จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง  ซึ่งหลักการทำงานของเครื่องฟอกอากาศตัวนี้  ใช้แหล่งจ่ายไฟฟ้าแรงดันสูงแบบพัลส์เพื่อสร้างไฟฟ้าแรงดันสูงให้กับเซลล์ตาข่ายสนามไฟฟ้า ทำให้เกิดพลังงาน 3 สิ่ง คือ ประจุลบที่ช่วยฆ่าเชื้อโรค ไฟฟ้าสถิตที่ช่วยดึงฝุ่นขนาดเล็กได้ถึงขนาด 0.01 ไมครอน รวมถึงฝุ่นขนาด PM2.5    และก๊าซโอโซนที่ช่วยกำจัดมลพิษทำให้เกิดอากาศสะอาดที่เครื่องมือนี้สร้างขึ้นมา ก็สามารถส่งผ่านความรู้สึกที่สะอาดและสดชื่นกลับมาอีกด้วย  ที่สำคัญเครื่องฟอกอากาศตัวนี้ใช้ไส้กรองที่สามารถถอดล้างน้ำแล้วนำกลับมาใช้ได้  ปัจจุบันผลิตออกจำหน่ายแล้ว

ส่วน “เครื่องผสมน้ำหวานและเครื่องดื่มอัจฉริยะ” เป็นผลงาน จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับผลิตเครื่องดื่มอย่างรวดเร็ว ผู้ซื้อสามารถเลือกส่วนผสมได้ตามที่ต้องการ หรือเลือกเมนูตามที่ตั้งโปรแกรมไว้ สามารถใช้ได้กับเครื่องดื่มหลากหลายประเภทหุ่นยนต์จะผสมเครื่องดื่มโดยอัตโนมัติ โดยสัดส่วนที่ใช้ผสมเป็นปริมาณที่มีมาตรฐาน 25 มิลลิลิตรทุก ๆแก้วของเครื่องดื่มจะมีรสชาติคงที่  สามารถใช้งานได้จริง โดยสั่งผ่านแท็บเลตหรือสมาทร์โฟน   และนำแก้ววางลงแพลตฟอร์มของตัวเครื่อง  

นอกจากนี้ยังมีชุดน้ำยาเรืองแสงและอุปกรณ์ครบวงจรสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจากวัตถุพยานชีวภาพ ผลงานทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   กระดูกเทียมที่ผลิตจากเปลือกหอยเคลือบข้าวผลงานของนายสิทธิพร  บุณยนิตย์ และคณะ  กล้องจุลทรรศน์สมาร์ทโฟน ห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่บนสมาร์ทโฟน ของนายสนอง  เอกสิทธิ์ และคณะจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และเครื่องเคลือบดินเผานาโนโปร่งแสงและน้ำหนักเบา ของผู้ช่วยศาสตราจารย์อนิรุทธิ์  รักสุจริต  จากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่

อย่างไรก็ดี  “งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562 (Thailand Inventors’ Day 2019)” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา  
  
สำหรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งจะมีพิธีมอบรางวัลภายในงานดังกล่าว  ประกอบด้วยรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติรางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงงานประดิษฐ์คิดค้น   โดยปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติจำนวน 10 ท่าน คือ  ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง   แห่ง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์)  ศาสตราจารย์ นายแพทย์พลรัตน์ วิไลรัตน์  แห่ง คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล  (สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์)  ศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ดร.เผด็จ ธรรมรักษ์ แห่ง คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา) ศาสตราจารย์ ดร.สุขสันติ์ หอพิบูลสุข แห่ง สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย) ศาสตราจารย์เกียรติคุณสุรพล ดาริห์กุล  แห่ง คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สาขาปรัชญา)

รองศาสตราจารย์ ดร.อรรจน์ เศรษฐบุตร แห่ง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาปรัชญา)  ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล  แห่ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สาขานิติศาสตร์)  ศาสตราจารย์   ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา แห่ง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (สาขาเศรษฐศาสตร์) ศาสตราจารย์ ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดาแห่ง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สาขาเศรษฐศาสตร์) และศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ แห่ง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  (สาขาสังคมวิทยา)