ข่าวเผยผลสำรวจการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล-ระดับความรู้ด้านดิจิทัล - kachon.com

เผยผลสำรวจการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล-ระดับความรู้ด้านดิจิทัล
ไอที

photodune-2043745-college-student-s

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในพิธีเปิด และกล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ “The State of Digital Thailand : สถานะดิจิทัลประเทศไทย” ว่า จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ของสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ของไทย พบว่าไทยมีสถานะที่ดีขึ้น จากอันดับที่ 44 ในปี 2557 เป็นอันดับที่ 39 ในปี 2561 และการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก 4.0 โดย World Economic Forum ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาในมิติเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ไทยมีอันดับที่ดีขึ้น จาก อันดับที่ 40 ในปี 2560 เป็นอันดับที่ 38 จาก 140 ประเทศ ในปี 2561



นอกจากนี้ ดร.พิเชฐ ยังกล่าวว่า ปัจจุบันมีการขยายตัวของการใช้งานอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์มือถือ และสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลให้มากขึ้น รวมถึงสร้างความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญในระดับสากล





“ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่มีการสำรวจและประเมินระดับการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศของประชาชน โดยมี สดช. เป็นผู้ดำเนินงาน มีคะแนนเฉลี่ย 68.1 จัดอยู่ในระดับ “ดี” ประเมินได้ว่าประชาชนมีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่สามารถประยุกต์ใช้ในการเปิดรับสื่อสารสนเทศในชีวิตประจำวันได้ และมีคะแนนเฉลี่ย 63.7 จัดอยู่ในระดับ “พื้นฐาน” สำหรับความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลได้ แต่ยังขาดพื้นฐานด้านจริยธรรม กฎ ระเบียบ และความปลอดภัย ซึ่งต้องพัฒนาให้ประชาชนมีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อก้าวสู่การเป็นพลเมืองดิจิทัลในอนาคต” ดร.พิเชฐ กล่าว



ด้าน ดร.ปิยนุช วุฒิสอน เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สดช. สำรวจและวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีการศึกษาและกำหนดแนวทางการวัดที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจแบบใหม่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการระบุระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคดิจิทัลของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเป็นข้อมูลสนับสนุนการวางทิศทางและยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ





“ในระยะต่อไป สดช. วางแผนว่าจะวางกลไกการติดตาม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านการพัฒนาดิจิทัลของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ รวมถึงการเปิดเผยชุดข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นข้อมูลเปิด (Open data) เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และประชาชน ได้นำข้อมูลไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย”
ดร.ปิยนุช กล่าว