หัวเว่ยเดินหน้าโครงการทดสอบเทคโนโลยี5G
ไอที
วันนี้ (28 ม.ค.) หัวเว่ยได้โชว์ความพร้อมเพื่อเตรียมทดสอบการใช้งานเทคโนโลยี 5G ของหัวเว่ย ซึ่งจะทดสอบในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ ที่อำเภอศรีราชา ชลบุรี เป็นความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า หัวเว่ยให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ทั้งกระทรวงดีอีและดีป้ามาต่อเนื่อง เป็นการเตรียมการให้ไทยก่อนเข้าสู่ยุค 5 Gซึ่งหลายคนก็ยังพิศวงว่า 4 Gยังใช้ไม่คุ้ม ก็คงต้องปล่อยให้พิศวงต่อไป แต่ยืนยันว่า 4 Gยังไม่หายไปจากพื้นผิวโลกยังใช้อยู่ต่อเนื่อง เชื่อว่าการใช้งาน 5 Gในช่วงแรก ก็จะเป็นลักษณะเดียวกัน มีแอพพลิเคชั่นสำหรับอุตสาหกรรม หรือธุรกิจบางประเภท นำร่องไปก่อน เช่น ด้านสาธารณสุข ยานยนต์
รมว.ดีอี กล่าวว่า. สิ่งที่คาดหวังจากการทดสอบการใช้งาน 5 G ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จะเอาแอพพลิเคชั่นต่างๆ มาทดสอบการใช้งาน กสทช. ก็อยากรู้เหมือนกันว่า แอพพลิเคชั่นที่ใช้งานบนเครือข่าย 5 G จะเกิดการรบกวนด้านในบ้างในเชิงคลื่นความถี่ จึงต้องเอาอุปกรณ์ต่างๆ มาทดสอบ ไอเอสพีหรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตก็จะมาเริ่มทดสอบว่า ในอนาคตจะมีบริการอะไรเกิดขึ้นบ้าง รวมทั้งแต่ละคลื่นความถี่จะต้องปรับเสาอย่างไร
“ดีอี มองว่าการทดสอบนี้ จะเป็นโอกาสทองของไทยได้เตรียมพร้อมก่อนของจริงมา ก่อนมาตรฐานโลกจะมา คาดว่าปีหน้ามาตรฐานโลกสำหรับ 5 G น่าจะลงตัว ขณะนี้ก็มีการเริ่มใช้งานในบางประเทศ ภายใต้เงื่อนไขเหมือนประเทศไทย คือยังไม่สมบูรณ์ ยังเป็นการทดลอง”
สำหรับการทดสอบครั้งนี้ ปีนี้จะเป็นโอกาสที่กระทรวงจะหารือกับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะไอเอสพี หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต เช่น การปักเสา จะทำแบบสี่จี หรือมีเสาเดียวเอามาแชร์ใช้ร่วมกัน จะได้ช่วยกันประหยัด แล้วผู้ให้บริการแต่ละราย ก็เอาอุปกรณ์ตัวเองมาพ่วง ทำแบบนี้ก็ไม่เกิดมลพิษทางสายตา ภาครัฐก็ดีใจ เพราะเป็นการแบ่งกันในโครงสร้างพื้นฐาน สังคมก็ได้ประโยชน์ ล่าสุด ทีโอที อาสาปักเสาเพื่อทดสอบ 5 จี ซึ่งหัวเว่ยจะให้บริการทดสอบเป็นรายแรก ๆ ของไทย หากมีองค์กรอื่น ต้องการร่วมทดสอบก็เสนอตัวมาได้ทุกสาขา แม้แต่หน่วยงานวิจัย
นายเจมส์ อู๋ ประธานบริหาร หัวเว่ย ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า หัวเว่ยจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับนวัตกรรม 5G ก่อนจะแนะนำออกสู่ตลาด อย่างเป็นทางการ คาดว่า เทคโนโลยีนี้ จะเป็นแกนหลักสำคัญให้อุปกรณ์นับพันล้านชิ้นเชื่อมต่อกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ IoT ,AI คลาวด์และนวัตกรรมอื่นๆ อีกมากมาย.