เนคเทคเผยภารกิจมุ่งสร้างสาธารณูปโภคไอทีให้ประเทศ
ไอที
ดร.ชัย กล่าวว่า สิ่งที่เนคเทคเชี่ยวชาญ คือ "ไซเบอร์-ฟิสิคัล ซิสเต็มส์" (Cyber-physical Systems ) หรือ CPS ซึ่งเป็นระบบที่บูรณาการการทำงานในโลกไซเบอร์และโลกกายภาพที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน เพื่อให้สรรพสิ่งบนโลกกายภาพมีความฉลาดมากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีที่จำเป็นของ CPS ก็คือ "เซ็นเซอร์ ระบบเครือข่าย เอไอ และบิ๊กดาต้า"
ทั้งนี้ ด้วยบุคลากรวิจัยของเนคเทคที่มีประมาณ 400 คน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อโจทย์ปัญหาที่เข้ามาอย่างหลากหลาย ประกอบกับที่ผ่านมาเนคเทคยังไม่สามารถผลักดันให้ผลงานหลาย ๆ ชิ้น ก้าวข้ามไปสู่แพลตฟอร์มที่ใช้งานในระดับประเทศได้ จึงมองว่า เนคเทคควรที่จะทำงานวิจัยที่เป็นฐานรากสำคัญด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศขั้นสูงของประเทศ
“....เปรียบเสมือนสาธารณูปโภคด้านไอทีของประเทศไทย และจะต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับพันธมิตรหน่วยงานอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของการใช้เทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาขึ้นมา ...”
นอกจากนี้ยังต้องเตรียมความพร้อมงานวิจัยเทคโนโลยีแห่งอนาคต ซึ่งเนคเทคได้รับภารกิจด้านฟรอนเทียร์รีเสิร์ซ หรือการวิจัยขั้นแนวหน้าใน 2 เทคโนโลยีหลัก คือ "ควอนตัม" ที่ในไทยยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้น้อยมาก และ "เทราเฮิรตซ์" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีคลื่นความถี่ ที่มีความสามารถในการทะลุทะลวงสูงมาก ซึ่งจะมีการนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์และอาหาร
สำหรับงานวิจัยใน 4 ปี หลังจากนี้ ผอ.เนคเทค กล่าวว่ามี 8 เป้าหมายหลัก คือเรื่องการบูรณาการข้อมูลประชากร เกษตรแม่นยำ อุตสาหกรรมอัจฉริยะ เอไอสัญชาติไทย เซ็นเซอร์คุณภาพสูง ไอทีเพื่อสุขภาพ การศึกษาอัจฉริยะ และเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้
เป้าหมายที่น่าจะเห็นผลชัดเจนในระยะเวลา1ปีแรก ก็คือ TP MAP ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า ที่มีการนำบิ๊กดาต้าและเอไอไปวิเคราะห์หาคนจนเป้าหมายในมิติต่าง ๆ ซึ่งจะมีการเพิ่มเติมข้อมูลเข้ามา และโครงการนี้คาดหวังถึงขั้นในอนาคต ประชาชนทั่วไปจะสามารถใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบได้ว่าสวัสดิการของรัฐที่ตนเองได้รับมีอะไรบ้าง
"การจะทำให้สำเร็จตามเป้าหมายนั้น ปัญหาสำคัญของไทย กว่า 50 % อยู่ที่การทรานสฟอร์มองค์กร หรือหน่วยงานต่าง ๆ ไปสู่ดิจิทัล ซึ่งเนคเทคพร้อมจะช่วย แต่ก็มีโครงการที่คาดว่าจะไปเป็นได้ ก็คือ Agri-Map (อะกริ แมพ) ที่จะมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางมากขึ้น ไม่ใช่แค่ การนำข้อมูลจากรัฐไปสู่เกษตรกร แต่ยังเป็นการนำเข้าข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่มาสู่ส่วนกลาง สามารถสร้างคลังข้อมูลองค์ความรู้ของพืชแต่ละชนิดได้อีกด้วย"
ส่วนเรื่องเอไอ ที่กำลังมาแรง ผู้บริหารเนคเทคบอกว่า จะมีการทำโซลูชั่นออกมาเป็นบริการมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่จะผลักดันก็คือ "แซทบอท" (CHAT BOT) สัญชาติไทยที่จะออกมาเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้งาน โดยอาศัยจุดขายที่ความเชี่ยวชาญด้านการประมวลผลภาษาไทยของเนคเทค
และในปีนี้....เนคเทคได้รับมอบหมายจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ให้ดูแลการจัดตั้ง 2 ศูนย์บริการสำคัญที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ คือ "ศูนย์ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์" (Supercomputer Center) ซึ่งจะใช้งบประมาณใน 3 ปีประมาณ 800 ล้านบาท ตั้งเป้าช่วยประมวลผลข้อมูลขั้นสูงได้ถึง 150 ล้านคอร์ชั่วโมง ใน 3 ปีข้างหน้า และ "ศูนย์ซีพีเอส เซ็นเตอร์" (CPC Center) ซึ่งจะช่วยให้คำปรึกษาและพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ให้กับภาคเอกชนได้ไม่ต่ำกว่า 200 คนใน 3 ปีเช่นกัน