สวทช. ขยายผลงานวิจัย e-Museum และ Museum Pool
ไอที
ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เนคเทค-สวทช. กล่าวว่า ศิลปวัตถุและภูมิปัญญาของชาติไทย ถือเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การจัดเก็บอนุรักษ์ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เกิดการเรียนรู้และมีจิตสำนึกในถิ่นกำเนิดและเกิดการหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมที่มีการสืบทอดต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อให้สามารถจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวในรูปแบบดิจิทัล ทำให้องค์ความรู้ดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย รวมถึงนำมาใช้เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อย่างน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยโครงการ e-culture มุ่งเน้นงานวิจัยด้านการอนุรักษ์และท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลวัฒนธรรม และนำข้อมูลด้านวัฒนธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว เช่น นำชมพิพิธภัณฑ์ สร้างเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยชุมชนหรือหน่วยงานสามารถเรียนรู้และเข้าใจกระบวนการพร้อมจัดทำได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งโครงการยังมุ่งเน้นสร้างคลังข้อมูลวัฒนธรรมแบบเปิด เพื่อให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถนำไปต่อยอดสนับสนุนการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ระบบบริหารจัดการข้อมูลวัฒนธรรม เป็นระบบที่ให้ผู้ใช้งานโดยอาจเป็นชุมชนหรือหน่วยงาน สามารถบริหารจัดการข้อมูลของชุมชนหรือหน่วยงานได้ด้วยตัวเอง จัดเก็บข้อมูลดิจิทัลในรูปแบบมาตรฐาน ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับคลังข้อมูลความรู้หรือคลังข้อมูลวัฒนธรรมอื่นๆ ได้ด้วย โดยระบบสามารถจัดเก็บข้อมูลได้หลายรูปแบบ เช่น ข้อความ ภาพ เสียง วิดีโอ ภาพ 360 องศา ภาพ 3 มิติ โดยผู้ใช้งานจะมีส่วนนำเสนอข้อมูลในรูปแบบเว็บไซต์ของตนเองได้ และสามารถสร้าง QR Code สำหรับนำชมได้ โดยโครงการมุ่งเน้นสร้างคลังข้อมูลวัฒนธรรม โดยเจ้าของข้อมูลเป็นผู้บันทึกข้อมูล และขยายผลสู่การสร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ให้สามารถรักษาข้อมูลซึ่งเป็นองค์ความรู้ของชุมชนได้ด้วยตนเอง และสามารถถ่ายทอดไปยังบุคคลอื่นได้”
นางปิยะฉัตร ใคร้วานิช เบอร์ทัน ผู้อำนวยการ สวทช.ภาคเหนือ กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Museum) ถือได้ว่าเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ในหลากหลายศาสตร์ด้วยกัน ทั้งทางด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ประเพณี รวมถึงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการจัดทำพิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นส่วนหนึ่งในการนำเทคโนโลยีเพื่อการอนุรักษ์มาใช้ เพื่ออนุรักษ์ข้อมูล (Digital Preservation) องค์ความรู้ในพิพิธภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ด้วยการบริหารจัดการลงทะเบียนข้อมูลวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ตามมาตรฐานการจัดเก็บและการกำกับข้อมูล โดย สวทช.ภาคเหนือ มีแนวทางขยายผลงานวิจัยในพื้นที่ภาคเหนือ ให้สอดคล้องกับการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยเน้นสนับสนุนการสร้างกำลังคนด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี e-Museum ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ให้เพิ่มทวีคูณ และขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ ต่อไป
ด้านผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ ดร.อนุกูล ศิริพันธุ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง กล่าวถึงภาพรวมของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในลำปาง ว่า ได้รับการตอบรับการจากท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ทั้งการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งปัจจุบันผู้คนรวมถึงผู้ประกอบการในจังหวัดลำปางมีความตื่นตัวเป็นอย่างมากและให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยผลที่คาดหวังจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ คือ เป็นฐานรองรับองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในรูปแบบดิจิทัล และคนเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
“โครงการ e-culture มุ่งเน้นสร้างคลังข้อมูลวัฒนธรรมแบบเปิด เพื่อประโยชน์ในสองด้านคือ ด้านผู้ให้ข้อมูล เพื่อให้ผู้มีข้อมูลวัฒนธรรมสามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และด้านผู้นำไปใช้ เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่จัดเก็บไปใช้พัฒนาสร้างนวัตกรรมต่อยอดได้ต่อไป โดยในการขยายผลการใช้งานระบบบริหารจัดการข้อมูลวัฒนธรรมในภาคเหนือตอนบนแห่งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เพื่อจัดเก็บข้อมูลวัฒนธรรม จำนวน 6 แห่ง พบว่า ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเกิดการนำระบบบริหารจัดการข้อมูลวัฒนธรรมไปใช้ในการจัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ของหน่วยงาน จึงได้ต่อยอดขยายผลงานวิจัยมายังจังหวัดลำปาง ที่เป็นพื้นที่เมืองรองของการท่องเที่ยวภาคเหนือ เนื่องจากลำปางเป็นจังหวัดที่มีมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ประเพณี และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่น่าสนใจ อีกทั้งยังมีชุมชน กลุ่มคนที่สนใจงานด้านศิลปวัฒนธรรมค่อนข้างสูง โดยนำร่องขยายผลงานวิจัยในพิพิธภัณฑ์ 5 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วัดปงสนุก วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม บ้านป่องนัก เซรามิคธนบดี และมิวเซียมลำปาง” ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ กล่าวสรุป