ข่าวแคท หนุนประชันทักษะสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่13 - kachon.com

แคท หนุนประชันทักษะสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่13
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (21 ม.ค.) ดร.ณัฏฐวิทย์  สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มขายและผลิตภัณฑ์สื่อสารไร้สาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท (CAT) กล่าวถึงการร่วม ร่วมสนับสนุน TESA Top Gun Rally 2019 ว่า แคท สนับสนุนโครงข่ายสื่อสาร LoRaWAN  อุปกรณ์ LoRa Developer Kit และระบบ IRIS ClOUD สำหรับการเก็บและประมวลผลข้อมูล รวมถึงการโปรแกรมระบบเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันได้สัมผัสและทดลองใช้งาน เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในด้านนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเยาวชน  เนื่องจากในขณะนี้ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรเป็นจำนวนมาก  การเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา และนักเรียนได้มีโอกาสมาทบทวนทักษะและเรียนรู้การทำงาน และสัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม จะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล และ CAT พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่และต่อเนื่องต่อไป


สำหรับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม “See-It 2019” มหาวิทยาลัยขอนแก่น  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม “ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด” สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม “Ha-araina” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และรางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม “ขิงของ The Origin” สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 


ดร.วัชระ ฉัตรวิริยะ นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย หรือ TESA กล่าวว่าแนวคิดในการจัดประชันทักษะสมองกลครั้งนี้ตั้งโจทย์  ‘ระบบจัดการโบราณสถานแห่งชาติ 4.0’ ซึ่งให้นำปัญหาจริงมาคิดค้นและนำไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เกิดประโยชน์ ที่ต้องนำความรู้ ทักษะ ต่างๆ เข้ามาใช้ในชีวิตจริงผ่านโครงข่าย LoRaWAN ที่มีศักยภาพสูงในการเชื่อมต่อสัญญาณเพื่อสั่งงานอุปกรณ์ได้เป็นจำนวนมากโดยมีต้นทุนที่ต่ำ และในอนาคตถ้ามีโครงข่าย LoRaWAN ครอบคลุมทั่วประเทศ ก็จะยิ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก ต่อการสร้างปัญญาประดิษฐ์ 

“คาดหวังว่าบุคลากรที่ผ่านค่าย TGR จะได้เห็นบทบาทที่ตัวเองสามารถนำความรู้ไปใช้ในทิศทางต่างๆ ได้จริง ไม่ว่าจะเกิดจากการฝึกอบรมของมหาวิทยาลัยและจากการรวมตัวของเครือข่ายนักวิจัย ถ้านักศึกษาพิจารณาถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เราใช้ในการแข่งขัน เราเชื่อว่าประเด็นเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีมีมูลค่าและมีประสิทธิภาพจริงๆ ในอนาคต ตอบโจทย์ของอุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนได้  นอกจากนี้น้อง ๆ ที่มาร่วมกิจกรรมยังได้ประสบการณ์และเครือข่ายเพื่อนร่วมวงการ มิตรภาพดี ๆ จากรุ่นสู่รุ่นที่จะช่วยขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศได้”

นางอัจฉรา แข็งสาริกิจ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 2 จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีกับโบราณสถานในการแข่งขันครั้งนี้ว่า การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับโบราณสถาน นับเป็นสิ่งที่ช่วยอย่างมากในการบริหารจัดการด้านการดูแลและพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านท่องเที่ยว  สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนับว่ามี Concept Design ที่น่าสนใจ ครอบคลุมในการดูแลโบราณสถาน  อีกทั้ง ยังสามารถนำไปต่อยอดเพื่อส่งเสริมให้โบราณสถานเป็นแหล่งเรียนรู้ในสังคมโลกาภิวัตน์ และมั่นใจว่าคนไทยมีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง
   
นายพชรกฤต วาณิชชาสถิต ตัวแทนทีม See-It 2019 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ The best of the best embedded system developers กล่าวว่า ภูมิใจกับผลงานและทีมงานที่ช่วยกันจนประสบความสำเร็จ ซึ่งเคยเข้าร่วมการประชันทักษะสมองกลฝังตัวชิงแชมป์ประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ปีนี้จึงรวมตัวกับเพื่อนเข้ามาแข่งขันอีกครั้ง โดยมั่นใจว่ามีความพร้อมทุกด้าน ทั้งนี้ ในส่วนอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์จะออกแบบในดูแลรักษาโบราณสถานให้สามารถนับจำนวนผู้เข้าชมโบราณสถานในแต่ละวัน  และยังประมาณการได้ว่าในอีก 1 ชั่วโมงข้างหน้าจะมีเพิ่มขึ้นอีกจำนวนเท่าไหร่  ส่วนแนวคิดในการพัฒนาอุปกรณ์ ได้แรงบันดาลใจมาจากการไปเยี่ยมชมโบราณสถานที่เป็นเรือนไม้ที่ต้องดูแลไม่ให้เกิดแรงสั่นสะเทือนมากๆ จึงนำมาพัฒนาตัวเซ็นเซอร์จับวัดค่าระดับแรงสั่นสะเทือน โดยเติมไอเดียในการตักเตือนให้ผู้เข้าชมโบราณสถานได้มีส่วนร่วมดูแลเมื่อเกิดแรงสะเทือน
 

สำหรับ การขยายโครงข่าย LoRaWAN ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ขณะนี้  CAT  ดำเนินการอย่างจริงจัง โดยมีความคืบหน้า สามารถเปิดใช้โครงข่าย LoRaWAN กว่า 30 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ ชลบุรี น่าน ระยอง สระบุรี สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา สงขลา ขอนแก่น ภูเก็ต ฯลฯ  และจะเร่งขยายบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปีนี้  โดยในอนาคตอันใกล้จะมีการใช้อุปกรณ์ IoT ที่หลากหลายและแพร่หลายมากยิ่งขึ้นด้วยโครงข่าย LoRaWAN  รวมไปถึงระบบคลาวด์ คอมพิวติ้งคุณภาพสูง อันจะเอื้ออำนวยให้บุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถ ตลอดจนองค์กรรัฐและเอกชน พัฒนาคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั้งยืนต่อไป