ข่าว'นที' คาด ประมูลคลื่น700 เมกะเฮิร์ตซสิ้นปี62 - kachon.com

'นที' คาด ประมูลคลื่น700 เมกะเฮิร์ตซสิ้นปี62
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
วันนี้ (18 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ตซ กล่าวภายหลังการประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยเกี่ยวกับ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 เมกะเฮิร์ตซ ว่า หลังจากนำร่างขึ้นประกาศในเว็บไซต์กสทช.ภายในวันที่ 18 ม.ค.2562 หรืออย่างช้าสุดภายในวันที่ 21 ม.ค.2562 และนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในเดือนเม.ย.2562 ประกาศฯจะผ่านลงราชกิจจานุเบกษา หลังจากนั้นต้องใช้เวลา 8 เดือน ในการเตรียมการต่างๆ ทั้งนี้ ต้องได้ข้อสรุปเรื่องการประเมินมูลค่าคลื่น 700 เมกะเฮิร์ตซ, การทำแผนคลื่นความถี่ทีวีฉบับใหม่ และ การทำแผนการปรับเปลี่ยนความถี่โครงข่ายทีวี ซึ่งแต่ละช่องต้องทำแผนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนอุปกรณ์จากคลื่น 700 มาใช้คลื่น 470 เพื่อดำเนินการตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและนำค่าใช้จ่ายตามจริงมาเตรียมเสนอเบิกกับกสทช. ดังนั้น กสทช. ต้องดำเนินเรื่องต่างๆ ให้เสร็จสิ้นก่อนถึงจะจัดการประมูล คาดว่าจะประมูลในเดือน ธ.ค. 2562 จึงไม่มีความจำเป็นต้องรีบประมูลก่อนเพราะผู้ชนะการประมูลจะได้ใช้คลื่นในเดือนธ.ค. 2563 

"หลังจากประมูลเสร็จ กสทช.ต้องให้โครงข่ายเสนอแผนการปรับความถี่เพื่อให้กสทช.อนุมัติ จากนั้นผู้ชนะประมูลจึงจ่ายเงินค่าประมูลงวดแรก 20% ภายในไตรมาส1/2563 เพื่อนำเงินส่วนหนึ่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และนำมาให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล โดยกสทช.จะใช้ระยะเวลา 10 เดือน ในการให้โครงข่ายปรับเปลี่ยนคลื่นความถี่ ส่วนการคืนใบอนุญาตของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลนั้น หากเนื้อหาในร่างประกาศฯ ระบุว่า จะจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆของผู้ประกอบการให้ อาทิ ค่าประมูลงวดที่เหลือทั้งหมด, ค่าเช่าMUX และ ค่าเช่าโครงข่ายตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) หากทีวีดิจิตอลจะคืนใบอนุญาตก็ทำได้ แต่จะไม่มีการจ่ายเงินชดเชยให้เพราะเป็นเงินของรัฐบาล"

พ.อ.นที กล่าวว่า เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องรีบประมูลภายในเดือนพ.ค.2562 จะทำให้ผู้สนใจตัดสินใจเข้าร่วมประมูล ส่วนกรณีที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ว่าไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 700 หากรัฐบาลไม่ขยายระยะเวลาการชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 900 นั้น ตนเข้าใจและเห็นด้วยมาตั้งแต่แรกแล้วว่าจำนวนเงินดังกล่าวเป็นมูลค่าที่สูงเกินไป หากรัฐบาลจะช่วยก็สามารถช่วยได้ คิดว่าในแง่ของการบริหารจัดการสามารถทำได้ แต่ก็ต้องระวังไม่ให้รัฐเสียประโยชน์ด้วย อย่างไรก็ตาม ตอนที่ประมูลทีวีดิจิตอล ก็ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่างทุกวันนี้ สื่อออนไลน์ได้รับความนิยมมาก และไม่มีต้นทุน ดังนั้นทีวีดิจิตอลก็ไม่ควรมีต้นทุนเช่นกัน การช่วยเหลือทีวีดิจิตอลในร่างประกาศฯ ที่ช่วยระยะยาว 10 ปี หากไม่มีใครมาประมูลหรือประมูลไม่หมด กสทช.ก็จะจัดการประมูลต่อไปเรื่อยๆ และนำเงินที่ได้ไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ จะไม่มีการนำเงินของกสทช.ออกไปให้เองก่อนแน่นอน