ทีโอที ฟุ้งผลประกอบการปี61 รายได้รวม 4.55 หมื่นล้านบาท
ไอที
สัดส่วนรายได้ของ ทีโอที สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.รายได้จากการดำเนินงานของ ทีโอที จำนวนประมาณ 25,300 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากธุรกิจหน่วยธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 2,920 ล้านบาท รายได้จากหน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย จำนวน 450 ล้านบาท รายได้จากหน่วยธุรกิจ IDC & Cloud จำนวน 980 ล้านบาท รายได้จากหน่วยธุรกิจโทรศัพท์ประจำที่และบรอดแบนด์ จำนวน 19,170 ล้านบาท และรายได้จาก หน่วยธุรกิจขายและบริการลูกค้าองค์กรจำนวน 1,570 ล้านบาท และ 2.รายได้จากพันธมิตร จำนวนประมาณ 20,200 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคม จำนวน 5,600 ล้านบาท รายได้จากคลื่น 2100 และ 2300 MHz จำนวน 14,600 ล้านบาท
ในปี 2561 ทีโอที มียอดรวมผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ประมาณ 1,378,000 พอร์ต คิดเป็นร้อยละ 17 ของส่วนแบ่งการตลาด มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์ประจำที่จำนวนกว่า 2,812,000 เลขหมาย และมียอดผู้ใช้บริการมือถือ TOT Mobile อยู่ที่ประมาณ 140,000 เลขหมาย
ดร.มนต์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2561 ทีโอที ได้ดำเนินโครงการสำคัญที่สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่ง ทีโอที ได้มีบทบาทในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในพื้นที่ที่ยังมิได้รับการพัฒนา ตลอดจนดำเนินงานโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ โครงการสำคัญระดับประเทศในปี 2561 ได้แก่ โครงการเน็ตประชารัฐ หลังจาก ทีโอที ได้เสร็จสิ้นการดำเนินงานติดตั้งและขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตไปยังหมู่บ้านที่ไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์จำนวน 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศไทยเมื่อปี 2560 ต่อเนื่องในปี 2561 บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการ “พัฒนา เครือข่ายเน็ต อาสาประชารัฐ” ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในชุมชน กล่าวคือ ทีโอที ได้จัดอบรมให้แก่ตัวแทนจากชุมชนที่โครงการเน็ตประชารัฐได้เข้าพัฒนาโครงข่ายหมู่บ้านละ 1 คน โดยมุ่งเน้นเรื่องความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเน็ตประชารัฐ การดูแลอุปกรณ์อินเทอร์เน็ต ตลอดจนการใช้แอพพลิเคชั่น "เครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ" ที่พัฒนาขึ้นโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ทีโอที มีแผนการจัดอบรมทั้งสิ้น 77 ครั้ง
โครงการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (Big Rock) ตามที่ได้รับมอบหมายจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ ทีโอที เป็นผู้ดำเนินโครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดย ทีโอที ได้ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยเทคโนโลยีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ไปยังโรงเรียนและโรงพยาบาลของรัฐที่ยังไม่มีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และดำเนินงานขยายความจุอินเทอร์เน็ต (Bandwidth) ไปยังโรงพยาบาล เพื่อรองรับการตรวจรักษาทางไกล (Tele-Medicine)
นอกจากนี้ ทีโอที ยังได้เร่งพัฒนาทรัพย์สินที่มีอยู่ให้เป็นแหล่งรายได้ใหม่ขององค์กร รวมถึงความพร้อมในลงทุนเพื่อตอบสนองนโยบายภาครัฐ ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยโครงการในการให้บริการโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกล อาทิ โครงการเน็ตประชารัฐ และโครงการ USO เป็นต้น รวมถึงโครงการภาครัฐอื่น ๆ อาทิ โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โครงการพัฒนาพื้นที่และเมืองเศรษฐกิจเป็น Smart City เป็นต้น