วช. แนะคนกรุงช่วยรัฐแก้ PM 2.5 ด้วยบิ๊กคลีนนิ่งบ้านเรือน
ไอที
ดร.ขวัญฤดี กล่าวสรุปถึงข้อเสนอแนะมาตรการเชิงรุกในการรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ว่า สนับสนุนมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากเห็นว่าเดินมาถูกทางแล้ว ส่วนเรื่องของสุขภาพ หน้ากาก N 95 จะเหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น คนป่วย คนสูงอายุ และเด็ก ส่วนคนสุขภาพดีปกติ สามารถใช้หน้ากากทั่วไปที่มีอยู่ได้ และเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีปริมาณ PM 2.5 สูง
ทั้งนี้ในช่วง 4 วันหลังจากนี้ จะเป็นช่วงที่กรุงเทพฯ มีลมพัดผ่านมากขึ้น ประชาชนควรที่จะช่วยกันทำบิ๊ก คลีนนิ่งบ้านเรือน อาคาร ล้างต้นไม้ใบไม้ ซึ่งจะช่วยให้มีพื้นที่ในการจับฝุ่นมากขึ้น เมื่อเสริมกับการดำเนินงานของภาครัฐจะทำให้ปัญหาคลี่คลายไปได้เร็วขึ้น ส่วนในระยะยาวผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะหันมามองเรื่องพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันมีเฉลี่ยประมาณ 3 ตารางเมตรต่อคน น้อยกว่ามาตรฐานที่องค์กรอนามัยโลกกำหนดคือ 9 ตารางเมตรต่อคน และควรต้องพิจารณาเลือกปลูกพันธุ์ไม้ที่ช่วยกรองอากาศ ได้ เช่น ต้นจั๋ง วาสนา ลิ้นมังกร ปาล์ม และเศรษฐีเรือนใน รวมถึงต้องมีการดูแล ตัดแต่งที่เหมาะสมด้วย
ดร.ขวัญฤดี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของผังเมือง ที่กรุงเทพมีอาคารสูงบล็อกกันเองทำให้อากาศไม่ถ่ายเท จุดนี้ควรจะเอาเรื่องงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เรื่องสัดส่วนอาคารกับถนนที่เหมาะสมมาพิจารณาในระยะยาว รวมถึงมีแนวคิดในการเสนอให้อาคารสูงมีการติดตั้งถุงกรองสำหรับช่วยดักฝุ่นละอองภายนอก ซึ่งจะช่วยได้อย่างมาก
สำหรับงานวิจัยของ วช.ปัจจุบัน ได้มีการสนับสนุนให้ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พัฒนาเครื่องมือ ตรวจวัดฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5 เรียกว่า “DustBoy” ซึ่งปัจจุบันมีการทดสอบติดตั้งทั่วประเทศ 38 สถานี และอยู่ในกรุงเทพ 3 จุด ซึ่งให้ค่าผลการวัดได้ใกล้เคียงกับเครื่องตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ
อย่างไรก็ดีในวันดังกล่าว วช. ได้ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)จัดเสวนา เรื่อง “ธูป...ทำบุญ...ผลต่อสุขภาพ...มะเร็ง???” ขึ้น ซึ่งเบื้องต้นจากงานวิจัย “สารก่อมะเร็ง : ภัยเงียบที่มากับควันธูป” ของนายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ โรงพยาลวิชัยยุทธ และ ดร. พนิดา นวสัมฤทธิ์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ พบว่า ควันธูปมีสารก่อมะเร็ง 3 ชนิด ได้แก่ เบนซีน บิวทาไดอีน และ เบนโซเอไพรีน เพราะธูปเป็นเครื่องหอมที่ทำจากขี้เลื่อย กาว น้ำมันหอมสกัดจากพืช ไม้หอม ใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ เมล็ดพืช เรซิน และสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมก็จะพอกอยู่บนก้านไม้ ธูปมีหลายรูปหลายขนาดตั้งแต่เล็กถึงใหญ่มาก ๆ เผาไหม้หมดในเวลา 20 นาที - 3 วัน 3 คืน ซึ่งในประเทศไทย ในการบูชาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ บางคนต้องจุดธูปถึง 9 ดอก
ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่ามีคนจุดธูปทั่วโลกปีหนึ่ง ๆ เป็นหมื่นถึงแสนตัน และทุก ๆ 1 ตัน ของธูปจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 325.1 กิโลกรัม และก๊าซมีเทน 7.2 กิโลกรัม หากปีหนึ่งทั้งโลก มีคนจุดธูปเป็นหมื่นถึงแสนตัน จะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทนออกมาเป็นจำนวนมหาศาล
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก ประธานคณะอนุกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมชุมชนเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า วช.กับสนช. ได้ร่วมกันศึกษาเรื่องควันธูปมาระยะหนึ่งแล้ว โดยตั้งสมมุติฐานว่าควันธูปที่คนไทยคุ้นชินนั้นส่งผลต่อสุขภาพหรือไม่ อย่างไร ซึ่งได้ข้อมูลขั้นต้นมาแล้วจึงเปิดเวทีให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนต่าง ๆ ได้นำเสนอความคิดเห็น ซึ่งข้อมูลที่ได้เพิ่มเติมจะมีการทำรายงานเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรัฐบาลต่อไป เพื่อเสนอแนะแนวทางที่จะไม่ทำให้ผู้ประกอบการที่ทำธูปขายเดือดร้อน ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยลดอันตรายที่จะเกิดจากควันธูปได้เช่น การรณรงค์ใช้ธูปโดยไม่ต้องจุด หรือการทำธูปที่มีเนื้อธูปน้อยลงมีระยะเวลาในการเผาไหม้สั้นๆ การใช้วิธีการอื่น ๆ แทนการใช้ธูป เช่น การใช้ไฟฟ้า รวมถึงการเสนอให้มีมาตรการควบคุมและลดการใช้สารอันตรายในการผลิตธูป