ข่าวปส.เสริมศักยภาพรับมือเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ - kachon.com

ปส.เสริมศักยภาพรับมือเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์
ไอที

photodune-2043745-college-student-s
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมมือกับ กระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา เสริมสมรรถนะบุคลากรของไทย 7 หน่วยงาน เตรียมพร้อมตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน        ทางนิวเคลียร์และรังสี ตั้งแต่วันที่ 14 - 18 มกราคม 2562 นี้  หวังเพิ่มศักยภาพและสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานในการบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีของไทยได้ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล 

นางสาววิไลวรรณ   ตันจ้อย รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และรังสีในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความเสี่ยงจากการเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์-รังสี และเหตุความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์มากขึ้นด้วยเช่นกัน การสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนถูกต้องเหมาะสมตามหลักมาตรฐานสากล รวมถึงการบริหารจัดการกำกับดูแลความมั่นคงปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอนจึงเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมความพร้อมในการระงับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี 

ปส. จึงร่วมกับ กระทรวงพลังงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดการฝึกอบรม Radiological / Nuclear Training for Emergency Response ตั้งแต่วันที่ 14 - 18 มกราคม 2562 ณ ปส. โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก National Nuclear Security Administration Office of Nuclear Incident Policy and Cooperation แห่งกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บรรยายให้ความรู้แก่ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศไทย จาก 7 หน่วยงาน จำนวนกว่า 35 คน ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายสากล สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และบุคลากรของ ปส.

นางสาววิไลวรรณ  กล่าวว่า การฝึกอบรมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แผนแม่บทในการเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อม ระงับ และฟื้นฟูเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. 2561 - 2565 ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรในการเตรียมความพร้อมระงับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี โดยเฉพาะการประสานงานและการสนับสนุนการปฏิบัติการกรณีเกิดเหตุฯ เพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนมีการเตรียมความพร้อมในการป้องกัน การเฝ้าระวัง ระงับและบรรเทาผลกระทบ รวมทั้งการฟื้นฟู ภายหลังจากการเกิดเหตุ     ซึ่ง ปส. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การฝึกอบรมครั้งนี้จะช่วยให้บุคลากรไทยจากทุกหน่วยงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีเกิดความรู้ความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติ เทคนิคการตรวจวัดทางรังสี มาตรการ         ความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และมาตรการติดต่อประสานงานในการปฏิบัติงานระงับเหตุฯ     

นอกจากนี้ยังคาดหวังให้เกิดความร่วมมือและการประสานงานกับองค์กรในต่างประเทศหากเกิดเหตุฉุกเฉินในต่างประเทศซึ่งอาจมีผลกระทบต่อประเทศไทย นำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือเพื่อประเมินสถานการณ์และระงับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีให้กลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ