สวทช.-กทม.ขยายผลใช้งานเดนตีสแกน เอกซเรย์3มิติทางทันตกรรม
ไอที
นายแพทย์พิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติทางทันตกรรมหรือเดนตีสแกน ผลงานวิจัยของาสวทช. มาใช้ในโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้ประชาชน ลดความผิดพลาดในการผ่าตัดในช่องปากของผู้ป่วย และเพิ่มประสิทธิภาพในการฝังรากฟันเทียม ที่สำคัญ เป็นนวัตกรรมที่ผลิตโดยคนไทย มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางปริมาณรังสีจากสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ มีปริมาณรังสีต่ำใกล้เคียงกับเครื่องที่ผลิตจากต่างประเทศและผ่านความปลอดภัยทางระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับเครื่องเดนตีสแกน และการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรม ที่จะนำไปให้บริการประชาชนในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ 2 แห่ง จะช่วยให้พี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานคร ได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมซึ่งเกิดจากฝีมือนักวิจัยที่เป็นคนไทย ที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย และยังทำให้ประเทศไทยสามารถลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง
ด้านดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า เครื่องเดนตีสแกนเป็นผลงานวิจัยพัฒนาของ สวทช. โดยโครงการนี้ได้เริ่มวิจัยพัฒนาอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2550 โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นผู้อำนวยการโครงการในการพัฒนาเครื่องดังกล่าว เครื่องเดนตีสแกนเป็นตัวอย่างผลงานวิจัยไทยที่มีคุณสมบัติและมาตรฐานระดับสากล ซึ่งพิสูจน์ว่าใช้งานได้จริง และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ให้แก่บริษัทเอกชนแล้ว
ปัจจุบันเครื่องเดนตีสแกน ติดตั้งไปแล้วในโรงพยาบาลทั่วประเทศรวม 20 เครื่อง มีจำนวนการใช้งานทั้งสิ้น มากกว่า 5,000 ครั้ง ทั้งนี้ภายในกลางปี2562 นี้จะมีการติดตั้งเครื่องเดนตี้สแกนครบ 60 เครื่องทั่วประเทศ โดยเครื่องเดนตีสแกนจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการก้าวสู่ยุคดิจิทัลทางทันตกรรม จากการใช้ข้อมูล 3มิติ ซึ่งจากข้อมูล 3 มิติที่ได้ จะทำให้สามารถนำเทคโนโลยีอื่นๆ เข้ามาสนับสนุนการทำงานของทันตแพทย์ อย่างเช่น การวางแผนผ่าตัด, การใช้อุปกรณ์นำร่องสำหรับเจาะช่วยในการผ่าตัด เป็นต้น ทำให้การฝังรากฟันเทียมมีประสิทธิภาพแม่นยำ และปลอดภัย นำไปสู่การเป็น “แพลตฟอร์มดิจิทัลทางทันตกรรม” หรือการบูรณาการนวัตกรรมทางด้านทันตกรรมที่พัฒนาในประเทศอย่างครบวงจร
เครื่องเดนตีสแกนในรุ่นดังกล่าวหากนำเข้าจะมีราคาประมาณ10 ล้านบาท แต่คนไทยสามารถทำได้ในราคา 5.5 ล้านบาท และอนาคตทีมวิจัยจะมีการพัฒนาเครื่องเดนตีสแกนที่มีขนาดเล็กลง สำหรับการใช้งานในระดับคลินิค และเดนตีสแกนที่รองรับการใช้งานกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถนั่งได้
อย่างไรก็ดีความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และ สวทช. ในครั้งนี้ ดำเนินงานภายใต้โครงการ Big Rock ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในส่วนของนโยบาย “วิทย์เสริมแกร่ง” ซึ่งเป็นการตอบโจทย์การสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย โดยมีเป้าหมายในการติดตั้งเครื่องเดนตีสแกนในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลของรัฐ จำนวน 50 แห่งทั่วประเทศ พร้อมการฝึกอบรมการใช้งาน ให้กับบุคลากรทางทันตกรรม อาทิ ทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์ จำนวน 500 คน ให้มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทางทันตกรรม